ลูกระเบิดจุลินทรีย์

ลูกระเบิดจุลินทรีย์

ลูกระเบิดจุลินทรีย์ ตัวช่วยบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำใส เพราะ “น้ำ” เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต และย่อมเกิดความเดือดร้อนเมื่อเกิดสภาวะน้ำเน่าเสียขึ้นมา 

วิธีการบำบัดง่าย ๆ ทำได้โดยการนำน้ำหมักชีวภาพมาผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ ปั้นเป็นลูกระเบิดจุลินทรีย์ เมื่อโยนลงไปในน้ำแล้ว จะช่วยบำบัดน้ำที่เน่าเสียให้ใสและไม่ส่งกลิ่นเหม็น 
  
จากการทดลองของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติพบว่า สามารถเพิ่มค่า DO (Dissolved Oxygen) หรือค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำจาก 3.5 ppm (หรือส่วนในล้านส่วน) เป็น 6.5 ppm ในเวลา 22 นาที

เป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ ซึ่งออกซิเจนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับปลาหอยพืช และแอโรบิกแบคทีเรีย (แบคที่เรียที่ต้องการออกซิเจน) ถ้าหากค่า DO ในน้ำต่ำกว่า 3 ppm จะทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำอยู่ในภาวะถูกกดดัน ถ้าค่า DO ต่ำกว่า 2 ppm หรือ 1 ppm ปลาจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากปลาจะดำรงชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ ได้ที่ค่า DO 5-6 ppm ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำ 

การเพิ่มออกซิเจนในแหล่งน้ำ ช่วยให้เกิดแบคทีเรียที่สร้างสรรค์นี้อย่างทวีคูณ ส่งเสริมให้เกิดสัตว์หน้าเลน เช่น ไส้เดือนแมลงในน้ำ รวมทั้งไรน้ำ ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของสัตว์น้ำพวก ปู กุ้ง ปลา และหอยอีกด้วย

ส่วนผสม

  • โคลนจากท้องน้ำ 50 กิโลกรัม
  • รำ 10 กิโลกรัม
  • แกลบ 50 กิโลกรัม (หากใช้ปุ๋ยหมักไม่ต้องใส่แกลบ)
  • ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 50 กิโลกรัม 
  • น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตราส่วน น้ำสะอาด 1 ส่วน : น้ำหมัก 1 ส่วน)

วิธีทำ

  1. นำโคลน รำ แกลบ และปุ๋ย มาผสมเข้าด้วยกัน รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ ผสมน้ำให้ชุ่มพอที่จะปั้นเป็นก้อนได้ ไม่เละ หรือเหลวเกินไป แล้วปั้นเป็นลูกกลมขนาดเท่าลูกเปตอง 
  2. นำไปผึ่งไว้ในที่ร่มจนแห้ง ใช้เวลาประมาณ 4 วัน

วิธีใช้

  • นำไปบำบัดน้ำ โดยใช้ในอัตราส่วน 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ล้านลิตร หรือ 25-50 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำที่เน่าเสีย

ข้อแนะนำ

  • ไม่เหมาะกับการใช้ในพื้นที่น้ำไหล เพราะก้อนจุลินทรีย์จะไหลไปกับน้ำ
  • ไม่เหมาะกับน้ำเสียที่เกิดจากสารเคมี
  • ถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้น้ำเสียได้

 

ข้อมูลจาก มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ