แสดงผลสำเร็จ “หลุมขนมครก” สู้วิกฤตภัยแล้ง-น้ำท่วม ชวนคนเมืองร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในงานสรุปผลโครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อ” ปี 3

แสดงผลสำเร็จ “หลุมขนมครก” สู้วิกฤตภัยแล้ง-น้ำท่วม ชวนคนเมืองร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในงานสรุปผลโครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อ” ปี 3

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 3

“บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด” จับมือ “สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง” “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ” และ “เจาะใจ” พร้อมพันธมิตรทุกภาคส่วน แสดงตัวอย่างความสำเร็จ “หลุมขนมครก” การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา ในงานสรุปผลโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 ณ สยามพารากอน เผยบทสรุปของโครงการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ในการรวมพลังฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” และภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้คนเมืองตระหนักว่าสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืนได้ พร้อมนำผลผลิตที่ได้จาก “หลุมขนมครก” ของเครือข่ายคนมีใจที่เข้าร่วมโครงการมาจัดแสดงและจำหน่าย โดยมีนักแสดงชื่อดัง แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และ เก้า-จิรายุ ละอองมณี อาสานำชม 

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะภาคีเอกชนที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนโครงการด้วยการนำแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน เราได้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากโครงการสามารถสร้าง “ต้นแบบ” การจัดการน้ำ ทั้งรูปแบบของโรงเรียน ชุมชน และบุคคล ในจังหวัดเป้าหมาย ซึ่งล้วนแต่เกิดจากความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน โดยอีกสิ่งหนึ่งที่น่าภูมิใจ คือ จากลุ่มน้ำป่าสักที่เป็นเป้าหมายเริ่มต้น ในวันนี้ได้กลายเป็นต้นแบบการจัดการน้ำที่ขยายผลสู่ระดับประเทศ เป็นการขับเคลื่อนระดับนโยบาย การศึกษา รวมถึงขยายความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เชฟรอนภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายและขับเคลื่อนโครงการจนประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และที่สำคัญขอขอบคุณ สถาบันเศรษฐกิจ พอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มาร่วมด้วยช่วยกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ เราจึงนำผลสำเร็จของการร่วมแรงร่วมใจมานำเสนอให้ประชาชนคนเมืองได้เข้าใจว่า “หลุมขนมครก” โดยศาสตร์พระราชาจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งภัยน้ำท่วมได้อย่างไร และที่สำคัญคนเมืองเองก็ยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน”

ภายในงาน มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ที่บอกถึงความเป็นมาของโครงการ จากแรงบันดาลใจของ “พ่อ” สู่การน้อมนำมาปฏิบัติผ่านศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น และสรุปผลประมวลภาพกิจกรรมตลอดทั้ง 3 ปี ที่เห็นถึงผลสำเร็จเกินความคาดหมาย นิทรรศการ “หลุมขนมครกในแบบของคุณ” โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะมาให้คำแนะนำด้านการออกแบบ สาธิตการกักเก็บน้ำและทำสวนแนวตั้งเพื่อให้คนเมืองที่มีพื้นที่อันจำกัดร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแสนหลุมขนมครกได้ และจากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พนักงานส่วนหนึ่งของเชฟรอนได้นำ “ศาสตร์พระราชา” ที่ได้เรียนรู้จากโครงการ ไปประยุกต์ในการจัดการพื้นที่ของตนเองจนเห็นผลสำเร็จจริง จึงนำมาเสนอในนิทรรศการ “หลุมขนมครกในแบบเชฟรอน” 

นอกจากนั้น ยังมี “มินิมาร์ทเกษตรอินทรีย์มีสไตล์” นำผลิตผลจาก ‘หลุมขนมครก’ ของ ‘คนมีใจ’ ที่เข้าร่วมโครงการ มาร่วมจัดแสดงและจำหน่าย โดยตัวแทนจากทั้ง คนต้นน้ำ คนกลางน้ำ และคนปลายน้ำ ตลอดลุ่มน้ำป่าสัก จะนำ พืช ผัก ผลไม้สด ข้าวไรซ์เบอรี่  ไข่ไก่ไข่เป็ดสด ไข่เค็มดินสอพอง ไก่ย่างสนุมไพรฯ และอื่น ๆ อีกมากมาย มาจำหน่ายถึงแม้ปีนี้จะประสบภัยแล้ง แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีผลผลิตมาจำหน่ายในงานนี้ได้ เพราะทำหลุมขนมครกในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างแล้งแต่รอดได้เป็นอย่างดี รวมถึงจากพนักงานเชฟรอนที่นำเอาศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตัวเองจนได้ผลผลิตมาจัดแสดงและออกร้าน

ด้าน ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “จากความสำเร็จของโครงการในปีแรกได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง จนนำมาสู่การเชื่อมประสานกับทหารและหน่วยงานต่าง ๆ กลายเป็นพลังความร่วมมือในปีต่อ ๆ มาอย่างจริงจัง จนเกิดพื้นที่ต้นแบบ “หลุมขนมครก” จำนวนมาก ที่ประชาชนร่วมเดินตามศาสตร์พระราชา สิ่งเหล่านี้คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยจัดการเรื่อง น้ำ ดิน ป่า แล้ว ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ในเวลาเดียวกัน จึงมีการนำเสนอโมเดลความร่วมมือของ 5 ภาคี แก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เป็นหนึ่งตัวอย่าง "การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม" จนสามารถผลักดันสู่ระดับนโยบาย และแนวทางการปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดนี้ต่อไปในอนาคต นอกจากนั้น ยังขยายผลสู่การเปิดศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ (ITOKmitl) ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำความรู้จากการปฏิบัติสู่งานวิจัยระดับนานาชาติ และเปิดหลักสูตร “การออกแบบที่ดินเพื่อการจัดการน้ำ” ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในอีก 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ” 

“แนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป จะเป็นการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขยายผลให้เกิดเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ตามที่มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างแหล่งน้ำขนาดย่อยในชุมชนทั่วประเทศ จึงขอเพียงให้ทุกภาคส่วนยังคงสนับสนุนและรวมพลังกันอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาจะสำเร็จผลอย่างแน่นอน”

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 18-26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  โดยเดินทางจากโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา รวมระยะทาง 433 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 4,000 คน  เพื่อร่วมกันลงมือทำ “หลุมขนมครก” ในรูปแบบอันหลากหลายในทุกขนาดพื้นที่ หาแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวนาไทย และช่วยกันอนุรักษ์ “ป่าซับลังกา” ป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคกลาง โดยมีนักแสดง แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์  ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และ เก้า- จิรายุ ละอองมณี เข้าร่วมกิจกรรม  

สามารถเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และรู้จัก “หลุมขนมครก” ให้มากขึ้น ได้ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3  ทางเฟซบุ๊ค “รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” หรือ  www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking