“รวมพลังตามรอยพ่อ” ปี 4 บรรลุผลสร้าง “ป่าสักโมเดล”  ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“รวมพลังตามรอยพ่อ” ปี 4 บรรลุผลสร้าง “ป่าสักโมเดล” ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 4

วิกฤตการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งการบรรเทาแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้และชี้ให้ว่าทุกคนมีส่วนช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนับเป็นความโชคดีของของพสกนิกรชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน “ศาสตร์พระราชา” หรือแนวทางการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า เพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำอย่างยั่งยืน 

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” นำโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ รายการ “เจาะใจ” และภาคีเครือข่าย จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการแก้ไขวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น “ต้นแบบ” การจัดการลุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ จนปัจจุบันเกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำอื่น ๆ ถึง 24 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ 

ก้าวสู่ปีที่ 4 ทางโครงการฯ จึงเดินหน้าต่อในการจัดกิจกรรมรณรงค์ 5 วัน เพื่อรวมพลัง 5 ภาคส่วน อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน พร้อมดาราจิตอาสา แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์  ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี ร่วมด้วยเครือข่ายประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 4,000 คน ที่มารวมพลังกันสร้าง “ป่าสักโมเดล” ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนพื้นที่ “ห้วยกระแทก” ขนาด 600 ไร่ ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี ที่พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้ว

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะภาคีเครือข่ายภาคเอกชน กล่าวว่า “เราได้เห็นพลังสร้างสรรค์และพลังสามัคคีของ ‘คนมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ ที่เข้มแข็งมาร่วมกันสร้างห้วยกระแทกแห่งนี้ให้เป็น ‘ป่าสักโมเดล’ โดยเป็นการนำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ของเครือข่ายทั่วประเทศที่ร่วมโครงการฯ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จนเกิดผลสำเร็จ ในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน อาทิ ตัวอย่างการจัดการน้ำในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ การแก้ปัญหาเขาหัวโล้น การสร้างแท็งก์น้ำยักษ์จากวัสดุจากธรรมชาติ และการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งด้วยวิถีชุมชนตามภูมิสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติในฐานต่าง ๆ  ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคน สร้างเครือข่าย และเกิดการขยายผลต่อ ๆ ไปตามเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์การเรียนรู้ ‘ป่าสักโมเดล’ แห่งนี้ จะเป็นประโยชน์กับชาวลพบุรีและประชาชนในแถบลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำอื่น ๆ ในการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง อย่างยั่งยืนต่อไป อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 อีกด้วย”

ด้าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ภาคีภาควิชาการผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ ได้กล่าวว่า “ตลอด 5 วันที่ผ่านมา พลังสามัคคีของทุกภาคส่วนเพื่อสร้าง ‘ป่าสักโมเดล’ จนบรรลุเป้าหมายในขั้นต้น คือ ความมหัศจรรย์ของหัวใจของทุกคนและเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสานต่อและเผยแพร่ศาสตร์พระราชาให้เป็นที่ประจักษ์ ศูนย์การเรียนรู้ ‘ป่าสักโมเดล’ คือห้องเรียนขนาดใหญ่ที่จะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่จำลอง ‘หลุมขนมครก’ เพื่อใช้ในแก้ปัญหาการจัดการน้ำในแต่ละภูมิสังคมได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรม 5 วันของโครงการฯ ยังนับเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งประเทศเข้าร่วมเรียนรู้หลักปรัชญาในการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายว่าทำงานแล้วต้อง ได้งาน ได้เพื่อน ได้พัฒนาตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หลังจากนี้สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและเครือข่ายภาควิชาการจากมหาวิทยาลัย ชั้นนำจะได้ใช้ศูนย์เรียนรู้ ‘ป่าสักโมเดล’ แห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกและดูงานสำหรับนักศึกษาที่สนใจ เป็นสถานที่ศึกษาวิจัย รวมถึงสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลพื้นที่ และมอบหมาย ‘เครือข่ายลพบุรี’ ซึ่งมีผู้ใหญ่อ้อย-นางอุทุมพร สุขแพทย์ เป็นแกนนำ เชื่อมโยงเครือข่ายอื่น ๆ ในลพบุรี และเครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อใช้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นศูนย์สร้าง ‘คนมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ ที่เข้มแข็งต่อไป”

พลโท ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ตัวแทนภาคีภาครัฐ เจ้าของพื้นที่ห้วยกระแทกซึ่งปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามศาสตร์พระราชา “ป่าสักโมเดล” กล่าวว่า “หลังจากศูนย์การเรียนรู้นี้เสร็จสมบูรณ์ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ  หน่วยบัญชาการ สงครามพิเศษ ได้ตั้งนายทหาร และพลทหาร จำนวน 21 นาย มาประจำการศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อดูแลรักษาพื้นที่ให้เกิดความเรียบร้อยและสวยงามอย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในรูปแบบ เครือข่ายประชารัฐ คือ ภาครัฐร่วมกับภาคประชาชน เพื่อร่วมบริหาร จัดการพื้นที่ ‘ป่าสักโมเดล’ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ที่เกิดการขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมไปทั่วประเทศตามเป้าหมายต่อไป”

และอีกหนึ่งในภาคีภาควิชาการสำคัญ ผู้ร่วมออกแบบพื้นที่ห้วยกระแทกแห่งนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม คือ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ป่าสักโมเดล คือ รูปธรรมความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาของโครงการฯ จากปีแรกที่ฝึกอบรมสร้างคน สร้างความเข้าใจในศาสตร์พระราชามาสู่การรณรงค์ให้ ‘ทดลองทำ’ ในปี 2 และ 3 พอถึงปีที่ 4 คนที่นำศาสตร์พระราชาไปใช้แก้ปัญหาอย่างได้ผลก็เดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อมา ‘ทำให้ดู’ เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกและสร้างคนที่จะนำศาสตร์พระราชาไปขยายผลให้ได้มากที่สุด จากนี้ สจล.ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจะจัดกิจกรรมที่ศูนย์ ‘ป่าสักโมเดล’ อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิด ‘คนมีใจ’ อีกหลายพันคนที่จะนำศาสตร์พระราชาไปขยายผลในพื้นที่ตัวเอง นอกจากนั้นยังจะดำเนินโครงการวิจัยในเชิงลึกในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก รวม 300 ไร่ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทเชฟรอนประเทศไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมและได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการจัดเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นจากการออกแบบพื้นที่อย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐานในทางวิชาการตามแนวทางศาสตร์พระราชาในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางสภาพแวดล้อม งานวิจัยนี้จะเป็นงานวิชาการที่ยืนยันในอีกทางหนึ่งถึงทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 อันเป็นทฤษฎีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก เพราะมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ต่างให้ความสนใจในศาสตร์พระราชา จึงเป็นโอกาสดีที่ ‘ป่าสักโมเดล’ แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และต่อยอดสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อไป”

พันเอกเริงฤทธิ์ เฉลยฤกษ์ หัวหน้ากองบริการ ศูนย์สงครามพิเศษและนายทหารโครงการเอราวัณ ผู้ได้รับมอบหมายเป็นนายทหารประจำโครงการ กล่าวว่า “ภาคภูมิใจมากที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีเป้าประสงค์ 3 ประการ คือ การรักษาพื้นที่ราชพัสดุของหน่วยฯ ให้คงอยู่ตามจำนวนที่ได้รับการแบ่งมอบ การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างรอบด้าน และการใช้พื้นที่เป็นแหล่งสนับสนุนการเรียนรู้และฝึกอบรมแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งจากการเข้ามามีส่วนร่วมของโครงการตามรอยพ่อของแผ่นดิน ได้ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการ อีกทั้งก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยเหลือสานต่องานต่าง ๆ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป สิ่งที่จะดำเนินการต่อ คือ การสร้างคนด้วยการให้ความรู้ในเรื่องศาสตร์พระราชาผ่านกระบวนการอบรม และการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง เพื่อขยายเครือข่ายในการร่วมมือแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ผู้สนใจเข้าชมและเข้ารับการอบรมที่ ‘ป่าสักโมเดล’ สามารถติดต่อที่ พันเอกเริงฤทธิ์ เฉลยฤกษ์ โทร. 090 973 9523”

ด้าน พลทหาร เฉลิมพร แหวนประเสริฐ สังกัดกองร้อยบริการ กองบริการศูนย์สงครามพิเศษ อีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อแผ่นดิน ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ลงมือปฏิบัติตามรอยพ่อ ได้มีส่วนร่วมสร้างสถานที่แห่งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้คนรู้จักพออยู่ พอกิน พอใช้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ผมตั้งใจจะนำความรู้กลับไปใช้พัฒนาชุมชนที่บ้านผมเอง ที่สำคัญผมรู้สึกเหมือนได้ทำงานรับใช้พระองค์ท่าน ผมเห็นหลาย ๆ คนที่เข้าร่วมโครงการนี้มีแต่รอยยิ้มและมีความสุข ผมก็พลอยมีความสุขไปด้วย” 

นางอุทุมพร สุขแพทย์ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 8 สามัคคี ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี ผู้นำเครือข่ายลพบุรี กล่าวว่า “เริ่มทำกิจกรรมกับโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่ 3 โดยปีนี้ได้ทำงานเป็นอาสาสมัครเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับทหาร ราชการ เครือข่าย และบุคคลทั่วไป ซึ่งได้ร่วมเตรียมงานนานถึง 3 เดือน โดยเข้าไปดูแลการปรับพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามแบบของศูนย์การเรียนรู้ ‘ป่าสักโมเดล’ ต้องทุ่มทั้งแรงกายและแรงใจ เวลาที่เราเร่งทำงานแล้วเหนื่อยมันเทียบกับในหลวง ร.9 ไม่ได้เลย จึงทำให้รู้สึกว่าเราต้องเร่งทำงานให้เร็วกว่าเดิมเพื่อสานต่องานของพ่อให้สำเร็จ ภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการสร้าง ‘ป่าสักโมเดล’ หวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชานอกห้องเรียน โดยให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงจากนิทรรศการมีชีวิตที่ทุกคนร่วมสร้างไว้”

นางวันเพ็ญ  ศรีพรม หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ผู้ผันตัวจากผู้จัดการร้านหนังสือในเมืองหลวง มุ่งกลับบ้านเกิดเพื่อทำการเกษตรตามศาสตร์พระราชา กล่าวว่า  “เข้าร่วมโครงการฯ ต่อเนื่องมา 2 ปีแล้วค่ะ หลังจากได้ไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี เมื่อปี 2557 ก็ลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรในรูปแบบ โคก หนอง นา ที่บ้าน พอหลังจบโครงการฯ ปี 2558 ก็กลับบ้านไปเริ่มขุดหนอง โดยมีทีมงานจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ช่วยออกแบบพื้นที่เก็บน้ำประมาณ 3 ไร่ ปีนี้ก็เริ่มทำนาได้ ปลูกผลไม้พืชผักสวนครัวและสมุนไพร คุณภาพชีวิตดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น และได้กลับมาดูแลแม่ที่แก่ลง สำหรับโครงการฯ ปีนี้ ที่มีการสร้าง ‘ป่าสักโมเดล’ ถือว่าเป็นประโยชน์มากกับชาวลพบุรีและจังหวัดรอบข้าง เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เริ่มต้นทำในวันนี้ จะส่งผลที่ดีในอนาคตแน่นอน และจะเข้าร่วมโครงการฯ นี้ต่อไปค่ะ”

เป้าหมายของการสร้าง “ป่าสักโมเดล”  ไม่เพียงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดเท่านั้น  แต่ “ป่าสักโมเดล” จะเป็นที่สร้าง “คนมีใจ” และ “เครือข่าย” ที่เข้มแข็ง ที่จะนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปต่อยอดขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหยุดท่วม หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป