“รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 6 ชวนปั่นรณรงค์ ลพบุรี-สระบุรี สร้าง “ชุมชนกสิกรรมวิถี” ตามศาสตร์พระราชา

“รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 6 ชวนปั่นรณรงค์ ลพบุรี-สระบุรี สร้าง “ชุมชนกสิกรรมวิถี” ตามศาสตร์พระราชา

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 6

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 ระยะทาง 60 กม. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป

เส้นทางการปั่นจะเริ่มต้นจาก “ป่าสักโมเดล” ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมสร้างไว้ในปีที่ 4 ของโครงการฯ ณ ห้วยกระแทก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ต.หนองหัวโพ  อ.หนองแซง จ.สระบุรี เพื่อร่วมเอามื้อสามัคคีสร้าง “ชุมชนกสิกรรมวิถี” เป็นตัวอย่าง “ชุมชนต้นแบบ” 

พันเอกสมบัติ เงสันเทียะ ผู้อำนวยการ กองกิจการพลเรือนหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ประธานในพิธีปล่อยขบวนจักรยานรณรงค์ตามศาสตร์พระราชา ในโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปีที่ 6 กล่าวว่า “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมของโครงการฯ นี้มาแล้วในปี พ.ศ. 2558 และ 2559 และโครงการฯ ได้จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีสร้างศูนย์การเรียนรู้ ‘ป่าสักโมเดล’ ขึ้นที่นี่ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำป่าสักให้บรรลุผลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้แก่ประชาชนทั่วไป ด้วยการจำลองสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน เป็นนิทรรศการที่มีชีวิต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่สาธารณชน ดังปรากฏให้เห็นโดยรอบห้วยกระแทกแห่งนี้"

นอกจากนี้เชฟรอนและภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่เป็นหลักในการดำเนินโครงการฯ ยังสนับสนุนโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการเพื่อต่อยอด อาทิ โครงการอบรม ‘ปลดหนี้สู่วิถีพอเพียง’ ให้แก่แม่บ้านทหาร ให้พึ่งพาตนเอง และปลดหนี้ได้ในอนาคต 

“ปัจจุบันนอกจากห้วยกระแทกจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่มีหลุมขนมครกขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนโดยรอบ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ 5 ประการ ได้แก่ การปลูกป่า การเกษตร การท่องเที่ยวและกีฬา การบริหารจัดการน้ำ และการปรับปรุงฐานเรียนรู้ 9 ฐาน ผมคาดหวังว่าการพัฒนานี้จะนำไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ ‘ป่าสักโมเดล’ ที่สมบูรณ์ในอนาคต”

ด้าน นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาแหล่งผลิต เชฟรอนประเทศไทย กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจที่โครงการฯ ได้กลับมาทำกิจกรรม ณ ห้วยกระแทก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษอีกครั้ง และเห็นพัฒนาการของพื้นที่ซึ่งมีภูมิทัศน์ที่สวยงามและร่มรื่นแห่งนี้ โครงการฯ ได้น้อมนำเอาองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง”

ในปีที่ 3 ของโครงการฯ เชฟรอนได้ทำพิธีเปิดและร่วมเรียนรู้การสร้างหลุมขนมครกที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ วัดใหม่เอราวัณ พร้อมทำกิจกรรมสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้ชุมชน ที่ศูนย์ปฏิบัติการโรงเรียนสงครามพิเศษ และในปีที่ 4 ของโครงการฯ เชฟรอนจัดกิจกรรมเชิญชวนคนทั่วประเทศร่วมกันสร้าง ‘ป่าสักโมเดล’ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ขึ้น พร้อมจัดขบวนวิ่งและปั่นจักรยานรณรงค์ในจ.ลพบุรีด้วย 

“สำหรับในปีนี้ โครงการฯ กลับมาอีกครั้งโดยจัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิถีพอเพียงตามรอยศาสตร์พระราชาจากห้วยกระแทก จ.ลพบุรี ไปยังพื้นที่เอามื้อเพื่อสร้าง ‘ชุมชนกสิกรรมวิถี’ ที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ อ.หนองแซง จ.สระบุรี รวมระยะทาง 60 กม. โดยมุ่งหวังให้เป็นชุมชนต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มบุคคลและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศในการรวมกลุ่มตามรอยศาสตร์พระราชาต่อไป” นายชาทิตย์กล่าวเสริม

พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ร่วมในพิธีปล่อยขบวนรณรงค์ กล่าวว่า “โครงการฯ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2556 กองทัพบกส่งทหารเข้าร่วมอบรม 500 นายและนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในค่ายทหาร นอกจากนี้ ห้วยกระแทกซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลุมขนมครกที่กักเก็บน้ำไม่ให้น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ยามแล้งของชาวลพบุรี  ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้การทำกสิกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และยังเป็นพื้นที่สันทนาการของประชาชนโดยรอบ ซึ่งคงจะได้พัฒนาต่อไปให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สมบูรณ์ในอนาคต”

โดยหลังจากนี้ โครงการฯ จะเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยส่งเสริมให้ประชาชนลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2561 โดยมีบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และสุดาพร พรหมรักษา เจ้าของพื้นที่บ้านน้ำปี้ ต.น้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นผู้นำกิจกรรม