คลังความรู้




ศาสตร์พระราชา

ศาสตร์พระราชา คือ ศาสตร์การจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษา คิดค้น และวิจัย แล้วพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อใช้ในการจัดการลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ จากภูผาสู่มหานที เมื่อนำองค์ความรู้นี้มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 



พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระราชทานองค์ความรู้ผ่านพระราชดำรัส พระราชปรารภ และพระบรมราโชวาท ในหลากหลายวาระ ซึ่งโครงการฯ น้อมนำมาเป็นหลักการ และแนวทางในการปฏิบัติ อาทิ


ดิน


...ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่ยากนัก ดินจะเค็มจะเปรี้ยวจะจืดอะไรก็ตาม สามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ภายในไม่กี่ปี โดยใช้เทคนิคแบบโบราณคือ ใช้ปุ๋ยหมักหรือใช้ตะกอนที่ลงมาตามลำห้วย มาพัฒนาดินอันนี้เป็นวิธีที่ง่าย...”
 

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2536
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เตรียมดิน

การจัดเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกตามพื้นที่ลาดชัน จะต้องเก็บรักษาผิวดินเดิมซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูงไว้ และต้องปลูกหญ้าหรือพืชอื่นยึดผิวดินไว้ไม่ให้ถูกฝนหรือกระแสน้ำชะล้างได้ เพราะหากผิวดินถูกชะล้างทำลายเสียแล้วก็จะทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากดินจะจืดและเสื่อมคุณภาพ”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520
ณ บ้านผาปู่จอม ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

บำรุงดิน

“ราษฎรน่าจะหมุนเวียนการปลูกพืชประเภทถั่วสลับกับการปลูกข้าวเพื่อการบำรุงดินและการใช้ที่ดินสำหรับการนำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นประโยชน์ตลอดปี”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
ณ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

แฝก

“...การปลูกหญ้าแฝก จะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีนี้ จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื่นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ ให้สมบูรณ์ขึ้น..”

พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร


 

น้ำ

“...หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

ฝาย

“...สำหรับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณสองข้างลำห้วยนั้น จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่มีน้ำซับ ก็ควรสร้างฝายเล็ก ๆ กั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีน้ำจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะสำหรับการปลูกข้าวไร่...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2521
ณ บ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

อ่าง

“...พิจารณาพื้นที่สำหรับสร้างอ่างเก็บกักน้ำทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลท่วมที่ลุ่มและแห้งหายไป โดยกักน้ำไว้ด้วยอ่างเก็บน้ำหรือฝายน้ำล้นตามลำห้วยเป็นระยะ ๆ ให้น้ำซึมลงในดินและไหลตามร่องน้ำใต้ดินมายังที่ต่ำ ซึ่งจะเป็นการยกระดับน้ำใต้ดิน และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่พื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งตามอ่างน้ำต่าง ๆ ก็สามารถมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดปีอีกด้วย...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2520
ณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

แก้มลิง

“...ลิงสมัยโน้น ลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว เขาเคี้ยวแล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ โครงการแก้มลิง น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำแก้มลิงเพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้ เวลาน้ำทะเลขึ้น ไม่สามารถที่จะระบายออก เมื่อไม่สามารถระบายออก น้ำทะเลก็ขึ้นมา ดันขึ้นไปตามแม่น้ำขึ้นไปเกือบถึงอยุธยา ทำให้น้ำลดลงไปไม่ได้ แล้วเวลาน้ำทะเลลง น้ำที่เอ่อขึ้นมานั้นก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ท่วมต่อไป จึงต้องมีแก้มลิง เราพยายามที่จะเอาน้ำออกมาเมื่อมีโอกาส...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

สระน้ำ

“...พิจารณานำทฤษฎีใหม่มาใช้งาน โดยให้ขุดสระน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตโครงการและบริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูฝน สระเก็บน้ำดังกล่าวนี้ จะทำหน้าที่เป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งน้ำเพิ่มเติมให้แก่สระเก็บน้ำขนาดเล็กในไร่นาต่อไป...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2539
ณ ทุ่งมะขามหย่อง อ. พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



 

ป่า

“...การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ ซึ่งบนยอดเขา และเนินเขาสูงขึ้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นจะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2520
ณ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

“การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง
คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2523
ณ โรงแรมรินคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก

“ถ้าพูดเรื่องปลูกป่านี้จะยืดยาวมาก ไม่มีสิ้นสุด แต่จะต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ถ้าได้เลือกที่ที่เหมาะสม แล้วก็ทิ้งให้อยู่อย่างนั้น โดยไม่ไปรังแกป่า ต้นไม้ก็จะขึ้นเอง”

พระราชดำรัส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537
ณ ศาลาดุสิดาลัย  สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

ป่าเปียก

“...ป่าเปียก หรืออาจเรียกว่า ภูเขาป่า ก็ได้ แต่ในปัจจุบันฝนตกน้อย จึงจำเป็นต้องจัดสร้างระบบส่งน้ำด้วยวิธีสูบน้ำขึ้นไปพักในบ่อพักน้ำบนภูเขา แล้วทำระบบกระจายน้ำช่วยการปลูกป่าแบบกึ่งถาวร คือประมาณ 3-4 ปี เมื่อไม้โตพอสมควรก็จะมีความชุ่มชื้นและจะช่วยดูดความชื้นจากธรรมชาติด้วย จากนั้นจึงย้ายระบบส่งน้ำดังกล่าวไปช่วยพื้นที่ใหม่ต่อไปอีก...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2529
ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อ. ชะอำ จ.เพชรบุรี

“...ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

เศรษฐกิจพอเพียง

“...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”

พระราชดำรัส พระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา
จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคง พร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”

พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร

“...ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ บอกว่าล้าสมัย จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

ทฤษฎีใหม่

"... หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ... ทฤษฎีใหม่นี่จะขยายขึ้นไปได้ อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้า ๆ เพราะว่าต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ๆ แต่ว่าค่อย ๆ ทำ และเมื่อทำแล้ว ก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก..."

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2537
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

"...ทำทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะให้ประชาชนมีโอกาสทำเกษตรกรรมให้พอกิน ถ้าน้ำมีพอดีในปีไหน ก็สามารถที่จะประกอบการเกษตร หรือปลูกข้าว ที่เรียกว่านาปีได้ ถ้าต่อไป ในหน้าแล้ง น้ำมีน้อย ก็สามารถที่จะใช้น้ำที่กักไว้ในสระเก็บน้ำของแต่ละแปลงมาทำการเพาะปลูก แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้ ไม่ต้องไปเบียดเบียนชลประทานระบบใหญ่ เพราะมีของตัวเอง แต่ก็อาจจะปลูกผักหรือเลี้ยงปลา หรือทำอะไรอื่น ๆ ก็ได้
     ทฤษฎีใหม่นี่มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลน ในยามปกติ ก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี ฉะนั้นจึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่..."

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

 

"...การทำทฤษฎีใหม่ ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ สามารถปรับสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้มีความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง แปลงทฤษฎีใหม่ก็ทำบ่อเก็บน้ำให้เล็กลงแล้วเพิ่มที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผักแทน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน ก็ต้องทำบ่อเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะต้องรับน้ำฝนมาเก็บไว้ใช้ทำกินตลอดปี..."

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541
ณ โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ภูมิสังคม

"...ในการพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศทางสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคน เราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วย โดยที่จะคิดให้กับเขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราต้องเข้าไปดูว่า เขาต้องการอะไรจริงและก็อธิบายให้เขาเข้าใจ หลักของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง..."

พระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร