ปริญญา นาเมืองรักษ์

ปริญญา นาเมืองรักษ์

ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน

ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น จ.สกลนคร

แผน ปราชญ์ชาวบ้านแห่งลุ่มน้ำสงคราม ผู้นำหลักกสิกรรมธรรมชาติและหลักเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติเพื่อสร้างพื้นที่ภาคอีสานให้อุดมสมบูรณ์เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ เขาเป็นหนึ่งใน "เจ็ดประจัญบาน" และ "หนึ่งโหลโสถิ่ม" (12 เดนตาย) ผู้นำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้วยศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสาน โดยมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเห็นเกษตรกรนำหลัก 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ

บรรพบุรุษของแผนมาจากร้อยเอ็ด มาตั้งถิ่นฐานที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เขาจึงเกิดและเติบโตที่นี่ เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านบัญชี ได้เดินทางไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียตามกระแสขุดทอง ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2535 เมื่อกลับเมืองไทยได้ไปทำงานในกรุงเทพฯ จนถึง ปี พ.ศ. 2540  ทางบ้านประสบปัญหาภาระหนี้สิน เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านเพื่อรักษามรดกที่พ่อมีอยู่ คือที่ดิน 50 ไร่นี้
 
เพราะเขาเห็นคุณค่าของผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยที่มีทั้งแสงแดด อากาศ ดิน น้ำ และป่า ต่างจากแผ่นดินซาอุดีอาระเบียที่มีแต่ทะเลทรายและลมแล้ง เขาจึงมุ่งมั่นที่จะนำพาชาวอีสานให้รักษาผืนดินแม่ไว้ให้ได้ แม้ว่าคนส่วนมากจะมองว่าอีสานแล้ง แต่ในสายตาของเขาอีสานนั้นร่ำรวยทั้งวัฒนธรรม ประเพณี น้ำใจ และทรัพย์ในดินเพียงแต่จะต้องมองและแก้ปัญหาให้ตรงจุด
 
เขาเข้าร่วมโครงการทายาทรับภาระหนี้แทนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเกษตรผสมผสานไทย-เบลเยียม อันเป็นโอกาสที่ทำให้แผนได้พบกับ อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่กับ ธ.ก.ส. แผนจึงได้แนวคิดในการทำการเกษตรผสมผสานทั้งปลูกพืช ประมง และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ลดต้นทุนได้ แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ แม้ว่าเกษตรกรมีความสามารถในการผลิต แต่มีต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์และอาหาร อีกทั้งการตลาดที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ เกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สิน
 
ในปี พ.ศ. 2546 กลุ่มคนจาก 18 อำเภอ ใน จ.สกลนคร ได้รวมตัวกันตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมาในแต่ละอำเภอ โดยแผนตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นใน อ.สว่างแดนดิน ทำกระบวนการลดต้นทุนในการทำนาตั้งแต่การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การตกกล้า การปักดำ การสำรวจระบบนิเวศน์ ข้าวแตกกอ ข้าวตั้งท้อง ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ครบทุกกระบวนการในการทำนา

จากโรงเรียนชาวนาพัฒนาขึ้นเป็น "ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น" มียุทธศาสตร์คือ "สร้างงาน ผสานวิชา พัฒนาอาชีพ" โดยใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของตัวเอง ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน รบด้วยปัญญา ชนะด้วยความรู้ ในปี พ.ศ. 2548 เป็นเวลาเดียวกับที่ อ.ปัญญา ลาออกไปทำงานที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก "ฅน ฮัก ถิ่น" ก็ไปช่วยงาน อ.ปัญญา 2 ปี ได้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
 
ปี พ.ศ. 2550 อ.ปัญญา พาไปเข้าเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) เขาได้เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติด้วย "บันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง" ปรับพื้นที่ในการสร้างป่า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง โดยปลูกป่าตามแนวเขตที่ดิน ปลูกแทรกในสวนยางพารา และปลูกป่าต้นน้ำในพื้นที่ 50 ไร่ ด้วยหลัก โคก หนอง นา ทั้งขุดหนองน้ำ ทำแปลงพอกิน หัวคันนาทองคำ ธนาคารอาหาร หลุมพอเพียง และแปลงนา เพื่อตอบโจทย์ของการมีอยู่ มีกิน มีใช้ มีความร่มเย็น

เป้าหมายสูงสุดของแผน คืออยากให้เกษตรกรที่ยังมีที่ดินใช้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างทายาทเกษตรให้ลูกหลานหวงแหนและกลับคืนถิ่น ให้สมกับที่ตั้งชื่อศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ "ฅน ฮัก ถิ่น"

แผนเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ ตั้งแต่ปี 1 จนถึงบัดนี้