ประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย)

ประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย)

ไร่ติ่งตะวัน และไร่ไฮ่เฮา หมู่ 4 บ้านแม่ฮ่าง ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง

ชาวปกาเกอะญอสองพี่น้อง ผู้เดินตามรอยศาสตร์พระราชาด้วยการสร้างโคก หนอง นา บนภูเขาที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ข้าวโพดให้เป็นป่าใช้สอยจนพึ่งพาตนเองได้ และยังชักชวนให้คนในหมู่บ้านลงมือทำตาม โดยมีสมาชิก 14 ครัวเรือน นอกจากนั้น ยังขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และจังหวัดอื่น ๆ ด้วยการเป็นวิทยากรให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และครูพา ทำให้กับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เป็นความสำเร็จของการพัฒนาคนซึ่งเป็นหัวใจของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ต๋อย ผู้เป็นพี่สาว มีพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ หลังจากลาออกจากการเป็นครู ได้กลับมาทำงานพัฒนาเด็กที่บ้านแม่ฮ่าง พบว่าทั้งผู้ปกครองและเด็กที่ทำพืชเชิงเดี่ยวมีปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมี จึงรณรงค์ให้ลดเลิกการใช้สารเคมี ด้วยการพาไปศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะเป็นการทำในเชิงพาณิชย์ที่ชาวบ้านทำตามไม่ได้
 
ปลายปี 2557 เมื่อได้รู้จักนายณัฐพงษ์ มณีกร จากหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม (SDSU) สภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมชาติ ได้ชักชวนให้ชาวบ้านไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง 2 รุ่นแรก รุ่นละ 5 คน โดย ติ่ง ผู้เป็นน้องชายเข้าอบรมด้วย จากนั้นจึงเริ่มทำในครอบครัว โดยเครือข่ายได้มาเอามื้อที่แปลงของติ่งในปี 2558 สร้างหลุมขนมครกให้เก็บน้ำในดิน จากร่องห้วยจากที่เก็บน้ำไม่ได้ก็มีน้ำ โดยขุดคลองไส้ไก่ ทำฝาย ขุดนาขั้นบันได ปลูกไม้ผล ฝรั่ง เงาะ อโวคาโด และพืชผสมผสาน ที่เหลือปล่อยเป็นป่า เขาอยากสร้างป่าในพื้นที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องไปรบกวนป่า ปัจจุบันทำได้ราว 2 ไร่ และมีเป้าหมายที่จะทำไปเรื่อย ๆ จนเต็มพื้นที่ทั้ง 21 ไร่

ด้วยความที่เขารักและอยู่กับป่ามาทั้งชีวิต เมื่อมีองค์ความรู้ผนวกกับความเข้าใจในธรรมชาติของพื้นที่และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เขาสามารถออกแบบพื้นที่ได้อย่างชำนาญจากการศึกษาจากร่องน้ำธรรมชาติ แม้ในพื้นที่ยาก ๆ ที่ไม่มีใครทำได้ ติ่งก็สามารถนำน้ำมายังพื้นที่จนได้ เขาเป็นครูพาทำที่เชี่ยวชาญ จน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ให้ฉายาว่า "ดร.ติ่ง"

ต๋อยใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตของชุมชนชาวปกาเกอะญอ ทำไร่ ปลูกข้าวไร่ปีละครั้ง ปลูกแตงกวา ฟักทอง ถั่ว งา ผักสวนครัวอื่น ๆ และไม้ผลในแปลงที่ปรับเป็นโคก หนอง นา 10 ไร่ ซึ่งผ่านมา 2 ฤดูแล้งแล้ว ที่น้ำไม่แห้ง ไม่ขาดน้ำ เธอยังทำผลิตภัณฑ์เพื่อการพึ่งตนเอง เช่น สบู่ แชมพู น้ำหมัก และการแปรรูปผลผลิตจากไร่ โดยเน้นการแบ่งปัน เธอพาคนไปอบรมและเป็นวิทยากรสนับสนุนให้คนอื่นทำด้วย เพราะนับตั้งแต่การปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวได้เข้ามาในหมู่บ้านในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ป่าถูกทำลายจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก การนำศาสตร์พระราชามาใช้ในพื้นที่จะลดการทำลายป่า และทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง
 
ในปีที่ 7 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2562) ได้นำสื่อสัญจรและเอามื้อสามัคคีที่ไร่ไฮ่เฮาของต๋อย และไร่ติ่งตะวันของติ่ง