ไตรภพ โคตรวงษา

ไตรภพ โคตรวงษา

ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา

อ.ไตรภพ โคตรวงษา หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ อ.เข้ม เขาเกิดและเติบโตมาในครอบครัวครูใน จ.หนองบัวลำภู ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในท้องไร่ท้องนา เลี้ยงควาย หาของกินที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ทุกฤดูกาล ไม่ว่าในหน้าแล้งหรือหน้าน้ำ ชาวอีสานรู้จักปรับตัวอยู่กับธรรมชาติหาอาหารรอบตัวมากินจึงไม่ได้รู้สึกขัดสน ความทรงจำของ อ.เข้ม กับบ้านเกิดจึงมีแต่ความสุข สนุกสนาน และความรักความผูกพันกับท้องถิ่น

เมื่อจบการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมจากวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นนามเดิมของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ก็ทำงานเป็นอาจารย์ที่นั่นทันที ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถาบันราชภัฏ  คำว่า "ราชภัฏ" มีความหมายว่า "คนของพระราชา...ข้าของแผ่นดิน" และได้รับประทานนามจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า "ราชนครินทร์" เขาจึงมีคำถามกับตัวเองว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร และได้ทำประโยชน์อะไรให้สมกับการเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดินบ้าง

ในปี 2548 อ.เข้ม เห็นข่าวการบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ชุมพรคาบาน่าจึงไปฟัง และทำให้เขาได้พบกับคุณวริสร รักษ์พันธุ์ หนึ่งในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เขาประทับใจวลีที่ว่า "จากภูผาสู่มหานที" ด้วยที่ตั้งของมหาวิทยาลัยตามภูมิสังคมของภาคตะวันออก อ.เข้ม จึงมีแนวคิด "จากเขาใหญ่ ผ่านทุ่งข้าว สู่อ่าวไทย" และในปีเดียวกันนั้นเองเขาก็ได้พบ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัย เขาจึงนำเสนอแนวคิดในการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวพระราชดำริ อ.ยักษ์ ได้ฟังแล้วจึงชวนทำงานทันที นับจากวันนั้น อ.เข้ม ก็ได้รับการอบรมบ่มเพาะจาก อ.ยักษ์ อย่างเข้มข้น เรียนรู้จากการลงมือทำจริงกับเครือข่าย เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ศูนย์บางคล้าของมหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบการทำทฤษฎีใหม่

ด้วยการจัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ" โดยเริ่มจากพื้นที่ 3 ไร่ จนขยายเป็น 30 ไร่ในปัจจุบัน ปรับพื้นที่เป็นโคก หนอง นา โดยเลียนแบบธรรมชาติและสภาพภูมิสังคมของภาคตะวันออก สร้างโคกแทนเขาใหญ่ สร้างลำธารแทนแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง จำลองอ่าวไทย ทำแปลงนา ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และสร้างฐานเรียนรู้ 9 ฐาน เริ่มอบรมรุ่นแรกในปี 2550 ต่อมาในปี 2552 ก่อตั้งเป็น "สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์" ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ 2 สมัย นอกจากนี้เขายังบูรณาการการสอนในวิชาการท่องเที่ยวด้วยการสร้างหลักสูตรวิชาการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมเกิดเป็นการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชาขึ้น

อ.เข้ม ทุ่มเทชีวิตและจิตวิญญาณในการเดินตามรอยพ่อฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างปูทะเลย์มหาวิชชาลัยตามพระราชนิพนธ์พระมหาชนกให้เกิดขึ้นที่นี่ พร้อมกับการขับเคลื่อนในลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ ด้วยมีทรัพยากรธรรมชาติและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นระบบนิเวศและแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศ ซึ่งกำลังถูกรุกล้ำทำลายจากการเติบโตของระบบทุนนิยม

เมื่อ อ.ยักษ์ อดีตประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2560 อ.เข้ม ชายหนุ่มผู้เปี่ยมด้วยพลัง ความสามารถ และคุณสมบัติที่จะสานต่องานของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ ขยายขอบเขตการทำงานและความรับผิดชอบไปทั่วประเทศ แม้งานจะหนักและยาก โดยเฉพาะอุปสรรคสำคัญคือ "คน" เพราะการเปลี่ยนแปลงคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุด และคนคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนา แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ด้วยเห็นทุกข์ของคนอื่นเป็นทุกข์ของตน ยึดมั่นในศาสตร์พระราชาและมีพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจที่ทำให้เขามี “พลัง” ที่จะก้าวต่อไปพร้อมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ

อ.เข้ม เข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ ทุกกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 1 จวบจนปัจจุบัน เขาเดินเคียงข้างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมากมาย