อาบอำไพ รัตนภาณุ
ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย)
อาจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์
อาบอำไพ รัตนภาณุ (แตง) เป็นคนกรุงเทพฯ ในครอบครัวที่พ่อทำธุรกิจและแม่เป็นข้าราชการครู เธอใช้ชีวิตแบบคนเมืองมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยจบการศึกษาด้านศิลปการละครจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชอบธรรมชาติ ชอบทำกิจกรรม เพราะสนุกที่ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้รับประสบการณ์หลากหลาย และได้พบปะผู้คน เมื่อเรียนจบได้ทำงานในบริษัทอีเวนต์ออแกไนเซอร์แห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ในโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ทำให้เธอประทับใจในตัว อ.ยักษ์ ที่สามารถตอบคำถามได้แหลมคม และคลี่คลายความสงสัยในชีวิตของเธอจนได้รับความกระจ่าง จุดประกายให้เธออยากเรียนรู้ต่อ ยิ่งเมื่อได้ลงพื้นที่ทำงานในโครงการฯ ทำให้เธอเห็นว่าสิ่งที่เธอได้ยินไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎี แต่มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม เหนืออื่นใดเธอได้สัมผัสถึงความตั้งใจดีของคนดี ๆ จำนวนมากที่มารวมกันเพื่อสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมทำให้เธอเกิดความประทับใจ
เมื่อได้รับรู้ปัญหา และเห็นป่าต้นน้ำป่าสักที่ถูกทำลายจนเป็นเขาหัวโล้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจและอยากจะทำอะไรให้ได้มากกว่านั้น จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาเพื่อติดตามและเรียนรู้กับ อ.ยักษ์ อย่างจริงจังที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จากการทำงาน เธอเห็นการขับเคลื่อนจากชาวบ้านจนสู่ระดับนโยบายรัฐ แต่หากไม่มีการลงมือปฏิบัติจริงก็ไร้ผล ซึ่งนอกจากการออกไปช่วยคนอื่นแล้วต้องลงมือทำของตัวเองด้วยเพื่อเป็นการเรียนรู้ถึงปัญหา
หลังจากที่ได้ลงพื้นพี่มาเกือบทั่วประเทศ จึงลงมือทำในพื้นที่ว่างของครอบครัวขนาด 80 ตารางวา บนถนนรามอินทรา โดยออกแบบปรับพื้นที่ทำโคก ขุดหนองน้ำ ขุดคลองไส้ไก่ และปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดที่ได้รับการแบ่งปันมาจากเครือข่าย ทั้งกล้วย มะม่วง มะกรูด มะนาว มะละกอ มะพร้าว และผักสวนครัวหลากหลายชนิด ซึ่งนอกจากสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยของตนเองแล้ว ยังทำให้ครอบครัวได้มีกิจกรรมร่วมกัน
ปัจจุบัน แตงรับผิดชอบงานที่ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) ที่เน้นการพัฒนาคุณค่าภายใน การพัฒนาความรู้ที่จำเป็น และการพัฒนาทักษะที่สำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ที่เข้าถึงวิชาการและวิชาชีวิต