พระสังคม ธนปัญโญ
ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง จ.ชลบุรี
ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย)
และผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ บ้านหนองบอน ต.หนองบัวบาน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์
พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ เกิดที่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ในครอบครัวชาวนา ได้เห็นความลำบากยากจนของเกษตรกรชาวนาอีสานมาตั้งแต่เล็ก จึงอยากหนีความลำบากด้วยการศึกษาจนจบด้านการเกษตรจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ และระดับปริญญาตรีด้านการส่งเสริมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากนั้นไปทำงานในเรือสำราญที่สหรัฐอเมริกาจนสามารถปลดหนี้สินให้พ่อแม่ได้ จึงส่งตัวเองเรียนต่อด้านการถ่ายภาพหนังสือพิมพ์ ด้วยความสามารถด้านการถ่ายภาพจึงยึดอาชีพช่างภาพและได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ เขาพบว่าแม้พอมีเงินแล้วแต่ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะยังเห็นความลำบากและความทุกข์ของผู้คน เมื่อนั่งสมาธิยามเกิดทุกข์ รำลึกคุณบิดามารดาเกิดนิมิต จึงขอบวชตอบแทนคุณบุพการีที่วัดเคลเลอร์เท็กซัส กอปรกับการได้อ่านเจอแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนและเป็นทางออกของมนุษยชาติ จึงหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม และพบว่านี่คือหนทางแห่งอิสรภาพและความสุขที่ยั่งยืน
เมื่อกลับมาประเทศไทย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ แห่งวัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี ได้ส่งพระสังคมไปบูรณะที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ.เชียงใหม่ ได้เห็นความศรัทธาของชาวบ้านที่ยากจนจึงอยากช่วยเหลือให้พ้นจากความยากจน จึงร่วมกับ พระสรยุทธ ชยปัญโญ เจ้าอาวาส ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เยาวชนได้รับการศึกษาและยังสามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้โดยไม่ต้องทิ้งบ้านไปเรียนในเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุของครอบครัวแตกแยก กอปรกับได้อ่านคติพจน์ของหลวงปู่จันทร์ กุสโล อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และเป็นผู้อุปถัมภ์วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ที่ว่า "เศรษฐกิจจิตใจแก้ไขพร้อมกัน" จึงนำหลัก "บวร" (บ้าน วัด โรงเรียน) มาทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นที่มาของศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร.) ที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม สร้างการศึกษาทางเลือก คือ "ดอยผาส้มโฮมสคูล" ซึ่งเน้นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic education) เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชุมชน อันเป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) และศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง จ.ชลบุรี ในเวลาต่อมา
ในปีที่ 1 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2556) พระอาจารย์สังคมได้นำเด็กนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ร่วมกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น 9 วัน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงต้นน้ำป่าสักที่ จ.เพชรบูรณ์ ได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เกิดคำว่า "โคก หนอง นา" นับแต่นั้น
จากการที่พระอาจารย์สังคมได้ลงพื้นที่ไปพัฒนาชุมชนในที่ต่าง ๆ แต่ยังติดค้างในใจที่ยังไม่ได้ตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด จึงชักชวนชาวบ้านไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตั้งโครงการ "แทนคุณแผ่นดินเกิด" เพื่อหาทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่อยากทำโคก หนอง นา และก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2558
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ มีพื้นที่ 26 ไร่ เป็นที่ดินของ 3 พี่น้องตระกูลขุนศิริ คือ สงคราม ขุนศิริ (พี่ชาย) พระสังคม ธนปัญโญ และบุสดี ขุนศิริ (น้องสาว) ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ สร้างพื้นที่ตัวอย่างเพื่อให้คนมาเรียนรู้ดูงานและเริ่มเปิดการอบรมในปี พ.ศ. 2563
ในปีที่ 2 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2557) พระอาจารย์สังคมได้ชักชวนเขมนิจ จามิกรณ์ (แพนเค้ก) และพิษณุ นิ่มสกุล (บอย) ดาราที่มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 มาซื้อที่ดินคนละ 3 ไร่ ใกล้กันกับศูนย์ฯ เพื่อสร้าง "โคก หนอง นา ดาราโมเดล" เพราะจะทำให้ชาวบ้านสนใจมากขึ้น ด้วยเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้สมบูรณ์เหมือนเช่นที่ท่านเคยพบเห็นตอนเป็นเด็ก โดยลงจอบแรกในปี พ.ศ. 2558
เพราะทุกข์ของชาวบ้านคือความยากจน ศาสตร์พระราชาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาที่มั่นคงและยั่งยืน พุทธศาสนากับศาสตร์พระราชามีหลักการเดียวกันอันจะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในสังคม เป้าหมายสูงสุดทางโลกของพระนักพัฒนาท่านนี้ คือ การมีโรงเรียนทางเลือกตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาเอกเรื่องศาสตร์พระราชา ส่วนทางธรรมคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง