ปราณี ชัยทวีพรสุข
ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของ "สวนฝันสานสุข" บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
จากพยาบาลผู้เสียสละทำงานเพื่อชุมชนด้วยหัวใจคนอาสา เธอได้พบกับปัญหาครอบครัวแหว่งกลางที่มีแต่ปู่ย่าตายายและข้ามไปยังรุ่นหลาน เพราะรุ่นพ่อแม่ทิ้งถิ่นเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ส่งผลกับสุขภาพ เธอจึงต้องหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุ จนได้มารู้เรื่องศาสตร์พระราชาและตัดสินใจไปอบรมตามแนวทางกสิกรรมธรรมชาติ หลังจากการอบรมจึงลงพื้นที่เข้าหาชาวบ้าน รวบรวมคนมีความรู้มาทำงานร่วมกัน แจกจ่ายความรู้เรื่องสุขภาพ หยิบเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ รวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย นำเรื่อง "สมุนไพรอินทรีย์" มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต จนทำให้เธอได้กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของการขยายเครือข่ายที่เข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ
ปราณีเกิดมาในครอบครัวชาวนาที่ยากจน ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของเกษตรกร จึงอยากเรียนให้สูงเพื่อหลุดพ้นจากความลำบาก ด้วยการชี้ทางของครูทำให้เธอได้รับโอกาสในการเรียนและทำให้เธออยากจะเป็นครูเพื่อให้โอกาสแก่เด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและทางสังคมต่อไป แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจทำให้เธอเลือกเรียนพยาบาล โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือคนให้มากที่สุด
จากการเป็นพยาบาลควบคุมป้องกันการติดเชื้อโดยเป็นหัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชน แต่อยากทำงานลงพื้นที่ชุมชน จึงขอย้ายมาที่ รพ.หนองบัวระเหว ซึ่งมีพยาบาล 3 คน รับผิดชอบชาวบ้าน 6,000 คน ดูแลการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน (Home ward) ซึ่ง นพ.นรุตม์ อภิชาตอมฤต (หมอนิค) เป็นผู้ริเริ่ม โดยให้คนไข้อยู่บ้านและมีทีมพยาบาลไปเยี่ยมตรวจอาการ สร้างคนให้เป็นผู้ที่ดูแลคนป่วยหรือคนแก่ที่บ้าน (Caregiver) นำเรื่องสมุนไพร กดจุด กัวซา ไปใช้เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ รวบรวมหมอและสูตรยาแพทย์พื้นบ้าน ขับเคลื่อนแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล แต่พบว่าการรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ซึ่งส่งผลกับสุขภาพ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ความยากจน ยาเสพติด ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า ฯลฯ จึงต้องหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุ
เมื่อได้มาทำงานชุมชนพบว่าเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวข้องกัน จนได้มารู้เรื่องศาสตร์พระราชาและแนวทางกสิกรรมธรรมชาติ จากการไปอบรม "ยักษ์กับโจน" จึงรวบรวมผู้ที่มีความรู้ในหลาย ๆ ด้านมาทำงานร่วมกัน แบ่งปันความรู้เรื่องสุขภาพ หยิบเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ รวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย นำเรื่อง "สมุนไพรอินทรีย์" มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต
เริ่มจากการทำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองบัวระเหวปลายปี พ.ศ. 2559 ต่อมาปี พ.ศ. 2561 จึงได้รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาก่อร่างสร้างศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม โดยการริเริ่มของ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น ซึ่งโครงการฯ ได้ไปทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี สร้าง "โคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล" ในปี พ.ศ. 2563 อันเป็นปีที่ 8 ของโครงการฯ
ปราณียังได้สร้าง "สวนฝันสานสุข" ของตนเอง ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างแหล่งอาหารเพื่อสุขภาพและเป็นที่เรียนรู้ของคนอื่น ๆ โดยจ้างชาวบ้านมาช่วยงานเพื่อให้เรียนรู้และจะได้นำความรู้กลับไปทำที่บ้าน ที่ผ่านมาสวนของเธอถูกไฟไหม้จากการเผาของพื้นที่ข้างเคียงถึง 2 ครั้ง ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความดี เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้คนต่อไป โดยหวังให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน