ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร
นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ที่ลูกศิษย์เรียกว่า “อาจารย์ยักษ์” เป็นผู้อุทิศตนในการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติเพื่อเป็นทางรอดในทุกมิติ
อาจารย์ยักษ์เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีชีวิตในวัยเด็กที่แสนสนุกท่ามกลางธรรมชาติของชนบท ได้เรียนรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติจากบรรพบุรุษ สั่งสมเป็นประสบการณ์ชีวิตทั้งวิชา “ครู คลัง ช่าง หมอ” ใช้ชีวิตใกล้ชิดพุทธศาสนา เมื่อเข้ามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศในกรุงเทพมหานคร จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากนั้นได้เข้าทำงานที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
จากการเป็นนักกิจกรรม และการที่บิดามารดาเป็นที่พึ่งของชุมชนในทุก ๆ เรื่อง จึงทำให้เขาได้เห็นปัญหาของชาวบ้าน บ่มเพาะให้เขาสนใจในเรื่องการพัฒนาชุมชน และพบว่าแนวคิดแบบตะวันตกที่นำมาใช้ในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น พึ่งพากลไกทางการตลาดมากเกินไป ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้
ต่อมาได้เข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) โดยมีหน้าที่จดบันทึกพระราชดำริ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานตามที่ต่าง ๆ เพื่อเตรียมจัดทำเป็นโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เขาเห็นว่าแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยแก้ปัญหาของประชาชนได้จริง จึงลาออกจากราชการมาลงมือปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสตร์พระราชาสามารถแก้ปัญหาในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน
โดยประยุกต์เป็นบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ขั้นที่ 1-4 คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ขั้นที่ 5-9 คือ บุญ ทาน เก็บ ขาย และสร้างเครือข่าย ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2526 ต่อมาได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สร้างตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จัดการอบรมเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชา จนมีลูกศิษย์ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศ
จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก แม้ในยามประชวรว่า “…แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก…” เป็นจุดกำเนิดที่ทำให้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมมือกันจัดทำ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ในปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำป่าสัก และต่อมาได้ขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ
9 ปีแห่งพลังสามัคคี ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดในทุกมิติและทุกวิกฤต เป้าหมายต่อไปของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร คือ การได้เห็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถ่ายทอดเป็นหลักสูตรในสถาบันการศึกษา และยกระดับสู่สากล