ธีระ วงษ์เจริญ
ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ
ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี
ธีระ วงษ์เจริญ จากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรเคมี สู่ผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ด้วยการทำเรื่องที่ท้าทายที่สุดในการเปลี่ยนวิถีชาวสวนผลไม้เมืองจันท์ ที่ใช้สารเคมีเต็มรูปแบบสู่การทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ เขายังพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองแบบมีส่วนร่วม “Participatory Guarantee Systems” (PGS) และขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ไปทั่วประเทศ ด้วยเป้าหมายที่อยากเห็นประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรอินทรีย์
อ.ธีระ เป็นลูกชาวสวนในจังหวัดจันทบุรี เติบโตมาในสวนยางพาราและสวนผลไม้ของพ่อแม่ ใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตอยู่กับธรรมชาติ ซุกซนโลดโผนเป็นหัวโจกในทุกเรื่อง ด้วยมีใจรักการเกษตร จึงเรียนต่อทางด้านเกษตรและไปรับราชการในกรุงเทพฯ ที่กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบการวิจัยเรื่องแมลง และศัตรูข้าว ซึ่งขณะนั้นเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกำลังระบาดหนัก ผลงานวิจัยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับชาติ แต่ในทางปฏิบัติกลับทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหนักทั่วประเทศ ทำให้เขาเกิดคำถามในใจว่าการใช้สารเคมีไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง
หลังจากได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย เขาได้กลับมารับผิดชอบงานที่กองพืชสวน ต่อมาย้ายมาทำงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำแหน่งหัวหน้างานวิชาเกษตร ทำเรื่องเกษตรยั่งยืน เป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้พบกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ที่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จึงต้องชะตากันด้วยมีแนวคิดไปในทางเดียวกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 มีการจัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง อ.ยักษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ได้ขอให้เขามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับตำแหน่งเลขาธิการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังในการสร้างเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และศูนย์ปราชญ์ทั่วประเทศ การดำเนินงานในช่วงแรกมุ่งเน้นการพัฒนาคน สร้างครูกสิกรรมธรรมชาติขึ้นมามากมาย
ต้นปี พ.ศ. 2548 รัฐบาลประกาศให้ "เกษตรอินทรีย์" เป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมาย 4 ปี (2549-2552) ไว้ว่า จะลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรในประเทศลง 50% จึงเกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติอย่างจริงจัง มีการจัดตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติขึ้นทั่วประเทศ ทั้งศูนย์เรียนรู้ดูงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ต้นแบบ รวมแล้วเกือบ 100 ศูนย์ รวมถึงศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จังหวัดจันทบุรี
สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เกิดขึ้นด้วยการตั้งศูนย์เกษตรอินทรีย์วิถีคนจันท์ และพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองแบบมีส่วนร่วม “Participatory Guarantee Systems” (PGS) โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับเกษตรอินทรีย์ ผลไม้ และสมุนไพรไทย ด้วยการเชื่อมโยงครือข่ายและสร้างการตลาดที่เข้มแข็ง
อ.ธีระ ได้เข้าร่วมกับโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ตั้งแต่ปีแรก ในระยะแรก เป็นการสร้างคนเห็นการเกิดของคนใหม่ ๆ ระยะที่สอง เกิดการแตกตัว เห็นรูปธรรมความสำเร็จมากขึ้น และในระยะที่สาม เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เกิดแรงกระเพื่อมและการสนับสนุนต่อยอดจากหน่วยงานต่าง ๆ เชื่อมโยงทุกภาคีเครือข่ายสู่ระดับชาติ
เป้าหมายสูงสุดของบรมครูท่านนี้ คืออยากให้คนไทยได้เรียนรู้ ว่าการไม่ใช้สารเคมีไม่ใช่เรื่องยาก และทุกคนสามารถทำได้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง