ปัญญา ปุลิเวคินทร์

ปัญญา ปุลิเวคินทร์

ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ผู้พิสูจน์ศาสตร์พระราชาด้วยการลงมือสร้างพื้นที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก จากพื้นที่เสื่อมโทรมปลูกอะไรไม่ขึ้นสู่ต้นแบบการจัดการพื้นที่ ดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา โดยนำความรู้ที่ศึกษามาตลอด 10 ปี มาปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จที่ ”เห็นตำตา” มุ่งมั่นถ่ายถอดความรู้สู่ศิษย์ด้วยเป้าหมายที่จะเผยแพร่ศาสตร์พระราชาให้มากที่สุดตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

อ.ปัญญา เป็นชาวฝั่งธนบุรี เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีวิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเองมาตลอด เป็นการบ่มเพาะชีวิตให้เข้มแข็ง สั่งสมประสบการณ์อันมีค่า ทำให้เขาสามารถทำงานได้ทุกอย่าง ขณะศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในช่วงอุดมการณ์ทางการเมืองเบ่งบานในเหตุการณ์เดือนตุลา เขาสนใจในลัทธิสังคมนิยมเช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษายุคคนเดือนตุลา เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเต็มตัว ด้วยมีใจมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือสังคม

เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2520 ได้ไปใช้ชีวิตแบบคนเก็บขยะอยู่ 2 ปี เพื่อเรียนรู้ชีวิต ก่อนที่จะไปทำงานเป็นพนักงานฝ่ายบุคคลที่โรงงานแห่งหนึ่ง พลิกชีวิตจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อกรรมกรชาวนา กลับมาอยู่ฝ่ายนายจ้าง ซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ของตน

ในปี พ.ศ. 2524 เริ่มทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง เพราะคิดว่าจะได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา การทำงานในช่วงแรกแม้จะยากลำบาก เพราะต้องอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร แต่ก็เต็มไปด้วยความสนุก เพราะได้ช่วยชาวบ้าน ทว่าในเวลาต่อมาเมื่อการเมืองแทรกแซงเพราะเห็นว่านี่คือช่องทางในการสร้างคะแนนเสียง อีกทั้งเกิดโครงการต่าง ๆ มากมายที่สนับสนุนให้ประชาชนกู้เงินมาทำ จากเกษตรกรที่ไม่เคยมีหนี้สินก็มีหนี้สินกันถ้วนหน้าทุกครัวเรือน เพราะโครงการต่าง ๆ ล้มเหลว ทำให้เขารู้สึกผิดที่เป็นผู้ชักชวนและทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้  จึงคิดว่านี่ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง จึงศึกษาหาความรู้เพื่อหาหนทางแห่งการพึ่งพาตนเอง โดยศึกษาศาสตร์พระราชา และหาความรู้จากปราชญ์ในด้านต่าง ๆ  ใช้เวลาสะสมความรู้และประสบการณ์ยาวนานถึง 10 ปี จึงลาออกในปี พ.ศ. 2548 โดยมีเป้าหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ที่บ่มเพาะมานั้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

เมื่อธรรมะจัดสรรให้ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และคุณวริสร รักษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการอยู่ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ชักชวนมาทำงานที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ทำตามความฝันของตนเองในการเผยแพร่ความรู้ และได้ทดลองลงมือทำจริงในพื้นที่ เขามุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงพื้นที่รกร้างด้วยศาสตร์พระราชาในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า แม้ว่าการทำงานในปีแรก ๆ จะไม่มีเงินเดือนและงบประมาณสนับสนุนการทำงาน

ด้วยความทุ่มเทแรงกายและแรงใจ จนทำให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเช่นทุกวันนี้ เพราะการสอนที่ดีที่สุดคือ อย่าบังคับให้คนทำตาม แต่ต้องสร้างตัวอย่างความสำเร็จ “ให้เห็นตำตา”

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ เป็นสถานที่เรียนรู้ศึกษาแก่ผู้คนมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นับแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยเปิดอบรมมาแล้วกว่า 200 รุ่นแล้ว จำนวนหลายหมื่นคน เขายังคงมุ่งมั่นถ่ายถอดความรู้สู่ศิษย์ด้วยเป้าหมายที่จะเผยแพร่ศาสตร์พระราชาให้มากที่สุดตลอดชีวิตที่เหลืออยู่