ณัฐพงษ์ มณีกร

ณัฐพงษ์ มณีกร

ผู้อำนวยการห้วยหลวงโมเดล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ณัฐพงษ์ เกิดและเติบโตมาในครอบครัวและชุมชนชาวคริสต์ของ จ.เชียงใหม่ ศึกษาและสอนด้านศาสนา โดยเป็นศาสนจารย์ และทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยบนภูเขา ในประเด็น “คนอยู่กับป่า” ที่มูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย ด้วยชีวิตที่ยึดโยงกับศาสนา การอยู่บนแผ่นดินโลกของเขาจึงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการอุทิศตนเป็นครูผู้ให้เพื่อสร้างสวนเอเดนบนโลกใบนี้

ปกป้องผืนป่ารักษาชีวิตคน
ปัญหาของบนคนบนดอยที่อยู่มาหลายชั่วคนแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะการประกาศพื้นที่ป่านั้นเกิดขึ้นทีหลัง  จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเสมอ ในอดีต ชาวบ้านมีวิถีชีวิตอยู่กับป่าตามวิถีดั้งเดิม ทำนา ทำไร่ เพื่อพออยู่พอกิน แต่นับจากการเข้ามาของระบบทุนที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม ทำให้การใช้พื้นที่ของชาวบ้านจากเดิมที่ใช้พื้นที่เพียงไม่กี่ไร่ ต้องเปิดพื้นที่เพื่อปลูกพืชชนิดเดียว คนละ 50 - 100 ไร่ ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายจนกลายเป็นเขาหัวโล้น วิถีชีวิตก็เปลี่ยนจากการพึ่งพาตนเองสู่การพึ่งเงินตรา เพราะต้องซื้อกินทุกอย่าง
ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ตกเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นผู้ทำลายป่า เป็นตราบาปที่ทำให้พวกเขาเสียใจและต้องการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนวิถีการผลิต การปลูกป่า และปกป้องผืนป่า

พบความหวังในพลังสามัคคี
ณัฐพงษ์ ศึกษาศาสตร์พระราชาทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง “คนอยู่กับป่า” ว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทำลายผืนป่า เหนืออื่นใด ยังเป็นการรักษาผืนป่าด้วย จึงเกิดความสนใจไปเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้เขาได้พบกับ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) ซึ่งแนะนำให้เขาได้พบกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) เขาจึงเข้ารับการอบรม เมื่ออบรมเสร็จ อ.ยักษ์ ก็ย้ำให้ทำแบบคนจน ซึ่งในตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจ จนกลับมาศึกษาวิถีบรรพบุรุษทำให้พบว่าการปรับพื้นที่นั้นสามารถทำได้ด้วยจอบ จึงเกิดเป็น “จอบเปลี่ยนโลก” ขึ้นด้วยการเอามื้อสามัคคี
เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการลดพื้นที่การใช้ป่า จากที่ต้องเปิดพื้นที่ทำไร่ 50-100 ไร่ ให้เหลือเพียง 10 ไร่ และจะต้องให้ได้ผลผลิตมากกว่าการปลูกข้าวโพด ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เขาได้เข้าไปบุกเบิกกินนอนกับชาวบ้าน เพียง 2 ปีให้หลัง ก็เห็นความสำเร็จเกิดขึ้น ข้าวที่ปลูกแบบเดิมกับข้าวที่ปลูกบนนาขั้นบันไดเติบโตสมบูรณ์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวโพดจำนวนมาก พื้นที่ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้กลับคืนเป็นผืนป่า พัฒนาพื้นที่จนเกิดเป็นศูนย์ฝึกอบรม ฝึกฝนคนให้แน่นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ  สร้างคนให้เป็นครูเพื่อสืบทอดต่อ ๆ ไป

จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ พะกอยวา บ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ขยายผลจนเกิดกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติบ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอินทรีย์วิถีไทยนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี สู่ห้วยหลวงโมเดล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อ.พาน จ.เชียงราย

ผสานดิน น้ำ ป่า คน บนพื้นที่ต้นแบบ
ณัฐพงษ์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ ครั้งแรกในปีที่ 4 ที่ห้วยกระแทก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี รับผิดชอบในการสร้างพื้นที่ต้นแบบที่เป็นสภาพภูมิศาสตร์บนเขา ด้วยการเอามื้อสามัคคีเปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นเขาหัวจุก

จากการลงมือทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความมั่นใจ เขาจึงลาออกจากมูลนิธิในสภาคริสตจักรในประเทศไทย มุ่งมั่นเผยแพร่ศาสตร์พระราชาด้วยการอุทิศตนเป็นครูผู้ให้ ด้วยความศรัทธาและลงมือปฏิบัติ สร้าง “ห้วยหลวงโมเดล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยจัดตั้งกลุ่มโคก หนอง นา เชียงรายขึ้น พัฒนาพื้นที่ 15 ไร่ ของห้วยหลวง ออกแบบการจัดการดิน น้ำ ป่า และการอบรมให้ความรู้  เพราะน้ำคือบ่อเกิดของความอุดมสมบูรณ์ จึงเน้นการเก็บน้ำฝนทุกเม็ดลงหนอง คลองไส้ไก่ และบนเขา กระจายน้ำจากที่สูงลงให้ทั่วพื้นที่

ความฝันอันสูงสุด
“คุณจะรักพระเจ้าได้อย่างไร ถ้าไม่รักเพื่อนมนุษย์” การอยู่บนแผ่นดินโลกของเขาไม่ได้อยู่เพื่อตนแต่อยู่เพื่อช่วยเหลือคนอื่น  เขาเชื่อว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ออกแบบชีวิตไว้ให้แล้ว เป็นพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำ การสร้างสวนเอเดนบนโลกใบนี้ของมนุษย์ต้องอยู่กับดิน น้ำ ป่า และคน ซึ่งตรงกับหลักของศาสนา การสอนจึงประยุกต์ให้เข้ากับคำสอนในไบเบิ้ล โลกมนุษย์จะต้องฟื้นด้วยการเริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายไปจนวันหนึ่ง โลกใบนี้ก็จะน่าอยู่ขึ้น เมื่อมนุษย์สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล