สิ่งที่ควรรู้ก่อนการเลี้ยงสัตว์

สิ่งที่ควรรู้ก่อนการเลี้ยงสัตว์

สิ่งที่ควรรู้ก่อนการเลี้ยงสัตว์

ตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ เราทำการเกษตรโดยอิงจากธรรมชาติเป็นหลัก ด้วยการสร้างระบบนิเวศในพื้นที่ให้มีการหมุนเวียนของทรัพยากร เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของเราได้อย่างสูงสุด

การจัดสรรพื้นที่ไว้เลี้ยงสัตว์ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราใช้ทรัพยากรในที่ของเราได้อย่างคุ้มค่า เพราะเราสามารถใช้พืชที่ปลูกมาเลี้ยงสัตว์ได้ มูลสัตว์ที่ถ่ายออกมา ก็เอากลับมาทำเป็นปุ๋ยเลี้ยงพืชได้ ทำให้มีผลผลิตที่มากขึ้นและหลากหลายขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้ เพราะนอกจากการใช้บริโภคในครัวเรือนแล้วเมื่อมีเหลือก็แบ่งปันหรือนำไปขายได้

ก่อนการเลี้ยงสัตว์เราควรเตรียมความพร้อมไว้ เพื่อที่การเลี้ยงสัตว์ของเราจะได้ราบรื่น และทุกชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว โดยสร้างระบบนิเวศหรือสร้างป่า สร้างธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นก่อน หากอากาศร้อนจะทำให้สัตว์เลี้ยงเครียดและเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างแล้วจึงเริ่มเลี้ยงสัตว์

การจัดสรรพื้นที่เลี้ยงสัตว์

การจัดสรรพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่

ขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ คือ ไก่ 3-4 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร สร้างโรงเรือนให้โปร่งโล่งระบายอากาศได้ดี ปูพื้นโรงเรือนด้วยฟาง แกลบ หรือวัสดุที่หาได้ แล้วใช้น้ำหมักรสจืดรดเพื่อลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง เมื่อวัสดุเหล่านั้นย่อยสลายให้เปลี่ยนวัสดุใหม่ และนำออกมาใส่ต้นไม้เป็นปุ๋ยได้

ไก่และเป็ดจะออกไข่ทุก  30 ชั่วโมง ให้จัดพื้นที่ให้ไก่วางไข่ เช่นวางตะกร้าแล้วนำฟางไปปูไว้ นอกจากนี้ควรมีพื้นที่สำหรับสัตว์ได้ออกกำลังกายด้วย

การจัดสรรพื้นที่สำหรับเลี้ยงเป็ด

ใช้หลักการเดียวกันกับการเลี้ยงไก่ แต่เป็ดต้องการพื้นที่ในการหากินมากกว่า และต้องมีหนองน้ำให้เป็ดได้ว่ายน้ำเล่นเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งแหล่งน้ำนั้นก็ควรต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพไว้ให้เป็ดได้หากินด้วย เช่น มีจอก แหน หอย และแมลง

นอกจากนั้น ให้ระวังศัตรูของเป็ดได้แก่ สุนัข ตัวเงินตัวทอง และงู เป็นต้น โดยล้อมบริเวณเพื่อป้องกันให้ดี

การจัดสรรพื้นที่เลี้ยงหมู

หมู 2 ตัวใช้พื้นที่ ประมาณ 16 ตารางเมตร การสร้างหลังคาโรงเรือนจะต้องป้องกันความร้อนได้ดีเช่น มุงด้วยกระเบื้องหรือหญ้าแฝก พื้นโรงเรือนหากมีงบประมาณพอก็ให้เทปูน หรือจะเลี้ยงบนดินก็ได้ โดยนำวัสดุเช่นแกลบโรยบนดิน แล้วล้อมรั้วโรงเรือนให้แข็งแรง เราสามารถนำมูลหมูไปใช้เป็นปุ๋ย โดยทุก 1-2 เดือน ควรจะโกยออกมา นำไปตากแดดทำเป็นปุ๋ยหมักแห้งได้

การจัดการกับกลิ่น

การใช้น้ำหมักรสจืดราดพื้นคอกเป็นประจำจะช่วยกำจัดกลิ่นที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ได้

นอกจากนั้น การออกแบบให้บริเวณเลี้ยงสัตว์อยู่ใต้ลม หรือสร้างแนวต้นไม้เพื่อดูดซับกลิ่นที่พัดมาตามลม เพื่อป้องกันกลิ่นที่จะไปรบกวนเพื่อนบ้าน

อาหารของสัตว์เลี้ยง

เราสามารถสร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ได้ด้วยการนำกิ่งไม้และใบไม้มากองสุมไว้ โรยด้วยรำ รดน้ำ แล้วกองทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จะเกิดแมลง มด และปลวก ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์แล้วจึงปล่อยให้ไก่เข้ามาคุ้ยเขี่ยหาอาหารกิน เป็นการให้โปรตีนจากธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร

อาหารสัตว์หมักเอง

ส่วนผสม

  • หญ้า ต้นกล้วย หรือกระถินสับละเอียดตากแห้ง 5 กิโลกรัม
  • รำละเอียด 1 กิโลกรัม
  • ฟ้าทะลายโจร 100 กรัม
  • น้ำหมักรสจืดหรือจุลินทรีย์น้ำนม 3 ลิตร

        เพื่อให้สารอาหารครบอาจเพิ่ม

  • ข้าวโพดบดละเอียด 1 กิโลกรัม
  • เปลือกไข่บดละเอียด 100 กรัม

จากนั้นก็นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วราดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์รสจืด คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกรอบ แล้วนำใส่กระสอบ บ่มไว้ 7 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่ เป็ด และหมูได้

นอกจากนั้น ผลไม้สุก เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ และผลไม้อื่น ๆ ที่เหลือกิน สามารถนำมาเป็นอาหารเสริมให้หมูได้

การทำจุลินทรีย์น้ำนม

ส่วนผสม

  • น้ำนม 10 ลิตร
  • น้ำตาล 1 กิโลกรัม
  • น้ำหมักรสจืดหรือรสเปรี้ยว 1 ลิตร

คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน สามารถผสมใส่อาหารสัตว์ได้ทันที เป็นการเพิ่มสารอาหารให้ครบถ้วนซึ่งจะช่วยให้เป็ดและไก่ไข่สม่ำเสมอ

ต้องศึกษาและสังเกต

การเลี้ยงสัตว์ให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งหากสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป สัตว์อาจจะเจ็บป่วย ให้สังเกตอาการของโรคและหาทางรักษา

สิ่งสำคัญในการเลี้ยงสัตว์ คือ ต้องมีพื้นที่ เวลา และความรับผิดชอบต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรอบ เพื่อที่คน สัตว์ และพืช อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข