การวางผังปลูกพืชเพื่อความยั่งยืน

การวางผังปลูกพืชเพื่อความยั่งยืน

การวางผังปลูกพืชเพื่อความยั่งยืน

การทำพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ ในรูปแบบของ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการสร้างฐาน “ 4 พอ” ได้แก่ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น ซึ่งก่อนที่จะลงมือทำเราจำเป็นต้องวางแผนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้สะดวกในอนาคต โดยการวางผังการปลูกพืช

ขั้นตอนการวางผังปลูกต้นไม้

  1. กำหนดเป้าหมาย ตามความต้องการของเรา เช่น ต้องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีไม้ผลเป็นพืชหลัก หรือมีสมุนไพรเป็นพืชหลัก เป็นต้น จากนั้นวางแผนปลูกพืชลักษณะเดียวกันให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการได้ง่าย โดยปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ให้มีไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน หากพื้นที่นั้นมีน้ำก็สามารถปลูกไม้น้ำด้วย
     
  2. ทำความรู้จักต้นไม้ที่ต้องการ เช่น เราต้องการปลูกไม้ผลเป็นพืชหลักซึ่งมักเป็นไม้ขนาดกลาง สิ่งที่ควรรู้คือ ต้นไม้ชนิดนั้นชอบแสงแบบไหน ต้นสูงเท่าไร ทรงพุ่มกว้างเท่าไร ต้องดูแลจัดการอย่างไร ซึ่งเราต้องศึกษาหาความรู้ก่อนด้วยการหาข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ และเรียนรู้จากผู้รู้ เพื่อให้เข้าใจไม้ทั้ง 5 ระดับ ว่าต้นไม้สูงเต็มที่เท่าไร ขนาดของทรงพุ่มกว้างเต็มที่เท่าไร ความต้องการแสงมากน้อยเพียงไร และความต้องการน้ำมากน้อยเพียงไร นอกจากนี้เราควรปลูกพืชท้องถิ่นซึ่งเป็นไม้ที่มีความต้านทานโรคและแมลงสูง เจริญเติบโตเร็ว เหมาะแก่การพัฒนาพื้นที่สีเขียว
  • ความสูงของต้นไม้และขนาดทรงพุ่ม เมื่อรู้ว่าต้นไม้นั้นเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีความสูงสุดเท่าไร เราก็สามารถกำหนดระยะการพาดร่มเงาในพื้นที่ได้โดยใช้ความสูงของต้นไม้ระดับสูงสุดเป็นตัวกำหนด
  • ทรงพุ่ม ต้นไม้ที่เพาะด้วยเมล็ดจะมีรากแก้วและแตกออกเป็นรากแขนง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดขนาดของทรงพุ่ม เพราะระยะกว้างของรากและทรงพุ่มมีขนาดเท่ากัน จึงสามารถสังเกตระยะกว้างของรากจากระยะทรงพุ่มได้  ความกว้างของทรงพุ่มยังเป็นตัวกำหนดระยะห่างในการปลูกของต้นไม้แต่ละต้น โดยเราสามารถปลูกแบบพุ่มชนพุ่ม หรือเว้นระยะห่างให้แสงสามารถส่องลงตรงกลาง ซึ่งระหว่างที่รอต้นไม้ใหญ่เจริญเติบโต จะมีพื้นที่ให้เราปลูกพืชต้นเล็กแซมได้ เช่น ไม้เตี้ยเรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดินที่ต้องการแสงในการเจริญเติบโต หรือปลูกพืชระยะสั้น เช่น พืชสวนครัว เป็นต้น 
    เราควรปลูกพืชที่โตไวเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับต้นไม้ใหญ่ที่เราปลูกขณะยังเล็กอยู่ เช่น กล้วย ซึ่งใบกล้วยให้ร่มเงาและยังเป็นพืชอุ้มน้ำทำให้พืชรอบข้างใช้อิงอาศัยได้ เมื่อไม้ใหญ่เติบโตจนให้ร่มเงาได้ จึงปลูกไม้เตี้ยเรียดิน และไม้หัวใต้ดิน ที่เหมาะกับสภาพแสงนั้น ๆ
  • ความต้องการแสงและน้ำ ต้นไม้แต่ละชนิดมีความต้องการแสงไม่เหมือนกัน อาทิ พืชผักสวนครัวโดยส่วนมากเป็นพืชที่ต้องการแสงแดด 100% จึงเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่ได้รับแสงเต็มวัน  
    ต้นไม้ทุกชนิดต้องการน้ำเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโต ไม้บางชนิดสามารถทนแล้งได้ ทนแฉะได้ จึงควรศึกษาหาข้อมูลของพืชที่ปลูกเพื่อให้เข้าใจความต้องการน้ำของพืช และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างสูงสุด
    การปลูกไม้ใหญ่ หรือไม้กลางไว้ใกล้น้ำ หากปลูกต้นไม้ริมหนองน้ำ ด้านที่ติดกับหนองน้ำจะเอนไปหาหาน้ำเพราะรากต้นไม้เจริญเติบโตไปทางหนองน้ำไม่ได้ รากและทรงพุ่มรับน้ำหนักไม่ได้ ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกริมหนองน้ำจะค่อยๆ เอนไปหาหนองน้ำ นอกจากนี้ การปลูกไม้ผลริมหนองน้ำ ทรงพุ่มด้านที่ติดกับหนองน้ำจะทำให้ตัดแต่งกิ่งลำบาก และเก็บเกี่ยวผลผลิตยาก หากต้องการปลูกไว้ริมน้ำจึงควรเว้นระยะร่น โดยเว้นระยะจากขอบหนองน้ำเท่ากับรัศมีทรงพุ่มเป็นอย่างน้อย หรือไปปลูกข้างคลองไส้ไก่ซึ่งไม่ได้มีความลึกมาก รากของพืชสามารถแผ่ไปใต้คลองไส้ไก่ได้
  1. เลือกให้เข้ากับผู้อยู่อาศัย ต้นไม้สามารถช่วยกรองฝุ่น ซับเสียง และดูดกลิ่นได้ หากเรามีที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก หากเราแพ้กลิ่น หรือแพ้ละอองเกสร ก็ควรหลีกเลี่ยงปลูกต้นไม้ที่เรามีอาการแพ้ หรือไม่ปลูกตามแนวแกนลม หลีกเลี่ยงการปลูกไม้มีหนามใกล้ทางเดินหรือที่พักอาศัย นอกจากนี้ ไม้ที่มีกิ่งเปราะ ใบร่วงหล่นง่าย และไม้ที่มีผล ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน เพื่อไม่ให้ร่วงหล่นใส่ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย
    พิจารณาปลูกไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม้ยืนต้น 58 ชนิด สามารถเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ ได้แก่ 1. สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20. ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26. นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์ 31.ปีบ 31.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กระทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม
     
  2. วางผังปลูก ให้วางผังจากต้นไม้ใหญ่ไปเล็ก โดยวางผังไม้สูงด้วยการเว้นระยะห่างของทรงพุ่มระหว่างต้น หากต้องการปลูกไม้ระดับกลางแทรก ก็ต้องเว้นระยะห่างให้เพิ่มขึ้น จากนั้นจึงปลูกไม้ระยะต่ำกว่าแทรกในพื้นที่ตามลำดับ ทั้งไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน หากเราวางผังการปลูกเช่นนี้ จะช่วยให้การบริหารจัดการพื้นที่ได้ง่ายขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยที่ไม่ต้องเหนื่อยแล้ว ยังทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีเพราะได้รับแสงอย่างเหมาะสม

ตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ แนะนำให้ปลูกป่า 5 ระดับ และไม้น้ำ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา ซึ่งไม่ใช่ปลูกให้มากที่สุด แน่นที่สุด รกที่สุด แต่เป็นการปลูกที่เหมาะสม เราจึงจำเป็นต้องวางแผน จัดระเบียบ และบริหารจัดการ ให้เราสามารถเข้าถึงและดูแลให้ต้นไม้ทุกต้นที่เราปลูกให้เจริญเติบโตและทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ตลอดอายุขัยของต้นไม้เหล่านั้น