กำแพงแฝกเสริมไผ่
กำแพงแฝกเสริมไผ่
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า “แฝก” เป็นพืชที่มีบทบาทอย่างมากในพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ลาดชัน ด้วยคุณสมบัติของระบบรากลึก ที่แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ ซึ่งหากปลูกติดกันเป็นแผง จะเหมือนกำแพงใต้ดินที่ช่วยดักตะกอนดิน ยึดดิน และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน แต่ในบางสภาพพื้นที่ ที่มีความลาดชันมากกว่าปกติ เราอาจจะต้องใช้ไม้ไผ่เป็นตัวช่วยในการเสริมความแข็งแรง
การเลือกลักษณะพื้นที่ปลูก
- พื้นที่ราบ ปลูกแฝกรอบหนองน้ำ และคลองไส้ไก่
- พื้นที่ลาดชัน ปลูกแฝกขวางทางน้ำ เพื่อชะลอการไหลของน้ำและดักตะกอนดินให้มาตกค้างที่กอแฝก โดยปลูกเป็นแผงตามแนวขั้นบันได ซึ่งการปลูกบนพื้นที่ลาดชันเช่นบนภูเขา น้ำอาจจะไหลลงมาซัดเอาแฝกที่ปลูกไว้ให้เสียหายได้ จึงต้องเสริมความแข็งแรงด้วย “กำแพงแฝกเสริมไผ่”
การทำแผงไม้ไผ่
- ตัดไม้ไผ่ตามขนาดที่ต้องการ โดยประมาณ ความกว้าง 1.50 เมตร ความยาว 2-3 เมตร
- เหลาเอาคมออก
- สานไม้ไผ่ให้เป็นช่องตาราง ขนาดประมาณ 30 x 30 เซนติเมตร
การเลือกแฝกให้เหมาะสมกับพื้นที่
แฝก สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ โดยเลือกชนิดของแฝกให้เหมาะสม
- พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ใช้แฝกลุ่ม ซึ่งสามารถทนต่อน้ำท่วมได้ดี
- พื้นที่ภูเขาหรือพื้นที่แห้งแล้ง ใช้แฝกดอน ซึ่งทนต่อความแห้งแล้งได้ดี
การเตรียมกล้าแฝก
- แฝกถุง คือ แฝกที่เพาะต้นกล้าในถุง ซึ่งสามารถเตรียมต้นกล้าไว้รอจนกว่าจะพร้อมลงปลูกในพื้นที่
- แฝกเปลือย คือ แฝกที่แยกออกจากกอ โดยขุดต้นกล้าแฝก ตัดใบส่วนปลายออกให้เหลือเพียงท่อนสั้น แยกต้นแฝกออกจากกอ ตัดรากออกให้สั้นเพื่อไม่ให้รากขดงอเวลาปลูกซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตชะงักได้ แฝกเปลือยจะต้องนำไปปลูกทันที หากทิ้งไว้จะเน่าตายได้
ลงมือปลูก
- การปลูกแฝกเสริมไผ่ จะนำฟาง เศษใบไม้แห้ง หรือเศษหญ้า มาห่มดินบริเวณที่จะวางแผงไม้ไผ่ จากนั้นจึงวางแผงไม้ไผ่ทับลงไป แล้วตอกด้วยหมุดเพื่อยึดแผงไม้ให้ติดกับดิน โดยใช้ไม้รวกที่มีข้อปล้อง ตอกยึดให้แนบกับพื้นดินเพื่อไม่ให้น้ำสามารถพัดพาหลุดออกไปได้
- การปลูกแฝก ให้ปลูกชิดกับรอยขัดของช่องไม้ไผ่ เพื่อช่วยให้แฝกและไม้ไผ่ยึดติดแน่นขึ้น
- โรยด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก (แห้งชาม) แล้วรดด้วยน้ำหมัก (น้ำชาม) จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มทั่วบริเวณกำแพงแฝกเพื่อให้เกิดความชื้นทำให้แฝกเจริญเติบโต หลังจากปลูกประมาณ 10-15 วันรากแฝกจะเริ่มงอก ประมาณ 1 เดือน รากแฝกก็จะเริ่มยาวขึ้นและช่วยยึดหน้าดินได้ หลังจากนั้นไม่ไผ่ก็จะถูกย่อยสลายไปเอง คงเหลือแต่ต้นแฝกที่แข็งแรง
การปลูกแฝกให้ได้ประโยชน์สูงสุด
หลังจากปลูกได้ 1 เดือน ควรตัดปลายใบแฝกให้สั้นลง และหมั่นตัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้แฝกออกดอก เพื่อเป็นการยืดอายุของต้นแฝกให้ตายช้าลง นอกจากนั้นการตัดใบให้สั้นลงยังเป็นการเร่งให้รากแฝกยาวขึ้นด้วย
รากแฝกนอกจากจะช่วยยึดดินแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับต้นไม้ที่เราปลูก เมื่อต้นไม้ที่เราปลูกเจริญเติบโตขึ้นบดบังแสงแดด ต้นแฝกก็จะตายไปเอง
“แฝก” ได้รับการยอมรับว่าเป็นพืชที่ช่วยในการปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยยึดหน้าดิน ช่วยชะลอการไหลของน้ำ และดึงน้ำไปเก็บไว้ใต้ดิน นอกจากนั้นแฝกยังมีคุณสมบัติในการล้างสารเคมี โดยจะตรึงสารเคมีที่อยู่ในดินไว้ที่ปลายปมรากแล้วย่อยสลาย
ใบแฝกยังเป็นวัสดุในการห่มดิน ซึ่งจะย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารของพืชได้ แฝกจึงเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อการทำกสิกรรมธรรมชาติ