การออกแบบโคก หนอง นา ด้วยตัวเอง

การออกแบบโคก หนอง นา ด้วยตัวเอง

การออกแบบโคก หนอง นา ด้วยตัวเอง

โคก หนอง นา โมเดล คือ การออกแบบพื้นที่กสิกรรมตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ด้วยหลักการออกแบบตามหลักภูมิสังคม คือ การออกแบบที่ต้องดูทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ควบคู่กัน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการใช้พื้นที่ได้อย่างสูงสุด เหมาะสม และถูกใจผู้อยู่อาศัย ทั้งยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นด้วย

ขั้นตอนการออกแบบโคก หนอง นา ด้วยตัวเอง ได้แก่

กำหนดความต้องการ

ก่อนการออกแบบให้สำรวจความต้องการของตัวเองก่อนว่าต้องการอะไรในพื้นที่บ้าง เช่น โคก หนอง นา บ้าน คลองไส้ไก่ โรงปุ๋ย เล้าเป็ด และเล้าไก่ เป็นต้น แล้วจึงมาจัดวางตำแหน่งให้เหมาะสมตามหลักภูมิศาสตร์  ได้แก่

ทางเข้า-ออกพื้นที่

ตำแหน่งของถนนหรือทางเข้าบ้านไม่ควรอยู่ติดขอบฝั่งใดฝั่งหนึ่งของพื้นที่ อาจวางอยู่กลางพื้นที่ หรือหากพื้นที่หน้าแคบควรวางตำแหน่งทางเข้าให้อยู่ 2 ใน 3 ของพื้นที่ และให้มีทางออกอยู่ทางด้านหลังของพื้นที่

โครงสร้างหลัก

บ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ควรอยู่บนโคก ซึ่งสามารถมีโคกได้หลายแห่ง เช่น บ้านอยู่โคกหนึ่ง  เล้าเป็ด เล้าไก่ และโรงปุ๋ย อยู่อีกโคกหนึ่ง เป็นต้น

ตำแหน่งของบ้าน

การกำหนดตำแหน่งบ้านขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของพื้นที่ หากต้องการความสงบเป็นส่วนตัว อาจวางตำแหน่งให้อยู่ลึกเข้าไปกลางแปลงหรือท้ายแปลง โดยให้คำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  • ทิศทางแสง เป็นสิ่งสำคัญด้วยความที่ประเทศไทยแสงอาทิตย์อ้อมใต้ 8 เดือน จึงไม่ควรวางตำแหน่งบ้านหันหน้าทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ เราอาจจะวางตำแหน่งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
  • ทิศทางลม ตำแหน่งสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงเรือน โรงปุ๋ย เล้าเป็ด และเล้าไก่ ซึ่งมีกลิ่นจึงไม่ควรวางให้อยู่ในทิศทางของแนวลม เพื่อไม่ต้องรับกลิ่น ซึ่งแกนลมของประเทศไทยพัดในแนวตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้
  • ทิศทางของเสียง หากมีสัตว์เลี้ยงจะมีเสียงรบกวนได้ จึงควรวางตำแหน่งของส่วนเลี้ยงสัตว์ให้ไกลจากตัวบ้าน

กำหนดพื้นที่กิจกรรมส่วนต่าง ๆ 

  • โคก หากเป็นพื้นที่ราบ ให้นำดินที่ได้จากการขุดหนองน้ำและคลองไส้ไก่ นำมาถมเป็นโคก หากพื้นที่เป็นภูเขาก็จะเป็นโคกตามธรรมชาติอยู่แล้ว
    หลักกสิกรรมธรรมชาติเน้นการปลูกป่าบนโคก เป็นการเก็บน้ำไว้ใต้ดินและเพื่อให้การเก็บน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกจะทำให้น้ำที่อยู่ในโคกกระจายลงสู่พื้นที่ได้ดี
  • หนองน้ำ ให้สังเกตว่าน้ำไหลมาทางไหน แล้วกำหนดตำแหน่งคลองไส้ไก่เพื่อเชื่อมโยงกับหนองน้ำ คำนวณปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ หากพื้นที่มีขนาดใหญ่อาจจะต้องมีหนองน้ำหลายแห่ง
  • นา ควรอยู่ในตำแหน่งที่รับลมฝน ซึ่งลมฝนมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยกำหนดขนาดแปลงนาตามที่เราต้องการ
  • ป่า การปลูกป่า 5 ระดับแบบผสมผสาน เพื่อให้มีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หากมีส่วนที่เป็นป่าอยู่แล้ว อาจจะปลูกป่าเพิ่มได้ แต่ระวังอย่าให้เป็นป่าทึบในส่วนที่ต้องการให้ลมฝนผ่าน และไม่ควรสร้างบ้านใกล้พื้นที่ป่าเพราะกิ่งไม้อาจจะหักลงมาเป็นอันตรายได้
  • การปลูกต้นไม้ วางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ว่าเราต้องการเน้นไม้ประเภทใดเป็นหลัก เพื่อให้เราสะดวกในการจัดการสิ่งนั้น ๆ เช่น พื้นที่ที่ปลูกไม้ผล ซึ่งต้องการการตัดแต่งกิ่งและการเก็บผลผลิตอยู่เสมอ จะต้องเป็นตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก
    เมื่อได้โครงสร้างหลักแล้ว จึงเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยตามความชอบ เช่น พื้นที่ปลูกผัก หรือปลูกดอกไม้ ซึ่งต้องการการดูแลมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ แปลงผักจึงควรอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งอาจจะมีหลาย ๆ แปลงรอบบ้าน ส่วนพื้นที่ปลูกไม้ดอก ควรอยู่ในพื้นที่ที่เรามองเห็นและสามารถได้กลิ่นหอมของดอกไม้
  • ทางสัญจร ทำทางสัญจรเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่กิจกรรมส่วนต่าง ๆ
  • ทางน้ำ หลังจากกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ตามความต้องการของเราแล้ว ให้ดูว่าน้ำสามารถไปถึงทั่วทุกพื้นที่หรือไม่ หากจุดไหนไม่ถึงให้เชื่อโยงด้วยคลองไส้ไก่ขนาดเล็กเพื่อเป็นตัวส่งน้ำให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่

ตรวจสอบแก้ไขแบบ

เมื่อเราวางตำแหน่งโครงสร้างต่าง ๆ ครบแล้ว ให้พิจารณาว่ากิจวัตรประจำวันของเรามีอะไรบ้าง หากส่วนใดเห็นว่าไม่สะดวกก็สามารถปรับแก้ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของเรา โดยสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการอบรมและขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการและเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้พื้นที่สูงสุด