ทฤษฎีดิน น้ำ ป่า
ทฤษฎีดิน น้ำ ป่า คือ องค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ในการจัดการทรัพยากรที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ของเรา
ดิน
ดินที่ดีคือ ดินที่มีสัดส่วนของเนื้อดิน แร่ธาตุ น้ำ และอากาศ ในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่ อนินทรียวัตถุ 45% อินทรียวัตถุ 5% น้ำ 25% และอากาศ 25% ซึ่งเป็นดินที่สามารถอุ้มน้ำได้ดี น้ำไหลซึมผ่านได้ รากพืชสามารถดูดน้ำจากดินไปใช้ได้
หากเรามีดินที่ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพาะปลูกอะไรก็ง่าย แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีดินดีเสมอไป จึงต้องปรับสภาพดินที่เปรี้ยวหรือเค็ม ให้กลายมาเป็นดินที่สมบูรณ์ นอกจากนั้น เรายังต้องบำรุงดินให้มีธาตุอาหารพร้อมสำหรับต้นไม้ ตามหลักการ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ได้ด้วยการห่มดิน และการทำปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำมาบำรุงดิน
น้ำ
น้ำคือชีวิต เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในพื้นที่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ รวมถึงตัวเราเองด้วย
ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เราแนะนำให้คำนวณหาปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ แล้วจัดสรรพื้นที่ให้เก็บน้ำฝนที่ตกลงมาให้ได้ 100% ด้วยการขุดหนองใหญ่ หนองเล็ก ทำคลองไส้ไก่ รวมถึงการปลูกป่าเพื่อซับน้ำไว้ใต้ดิน
หากทำได้ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะแล้งแค่ไหน ที่ดินของเราก็จะไม่ขาดน้ำสามารถสร้างผลผลิตได้ทุกฤดู การดูแลพืชก็ง่ายขึ้น ไม่ต้องวางระบบท่อหรือใช้สปริงเกอร์ให้สิ้นเปลือง เพราะคลองไส้ไก่จะช่วยกระจายความชุ่มชื้นไปในพื้นที่ ทำให้น้ำสามารถซึมไปถึงรากพืชได้ อีกทั้งยังใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ทำให้เรามีผลผลิตที่หลากหลาย
ป่า
เมื่อปลูกป่าตามศาสตร์พระราชา คือ ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง เราก็จะมีทุกอย่างครบในบ้านของเรา เพราะแทบทุกอย่างที่จำเป็นกับชีวิตของเราสามารถหาได้จากในป่าแทบทั้งนั้น
ป่า 3 อย่าง คือ ป่ากิน ป่าใช้ และป่าอยู่
- ป่ากิน คือ พืชที่เป็นอาหารและสมุนไพร เช่น แค มะรุม กล้วย ผักหวาน พริก มะเขือ ขิง ข่า และฟ้าทลายโจร เป็นต้น หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องกินอาหารเป็นยา ป่านี้ก็จะดูแลเราได้ทั้งเรื่องปากท้องและสุขภาพไปพร้อมกัน
- ป่าใช้ คือ ต้นไม้ที่ใช้ทำข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ เช่น ไผ่ หวาย และมะคำดีควาย เป็นต้น เราสามารถนำมาทำงานหัตถกรรมเพื่อใช้สอย ทำฟืน เผาถ่าน และทำน้ำยาซักล้างได้
- ป่าอยู่ คือ ต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง เช่น สัก ตะเคียนทอง ยางนา พะยูง และพะยอม เป็นต้น เป็นไม้ที่เป็นทรัพย์สิน นำมาสร้างบ้าน และทำเครื่องเรือนได้
ประโยชน์ที่ได้ก็คือทำให้เรา พอกิน พอใช้ พออยู่ และประโยชน์อย่างที่ 4 ก็คือ พอร่มเย็น เพราะป่าจะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ทำให้บ้านเรามีความร่มรื่น มีอากาศที่ดี
เมื่อเราจัดการทั้งดิน น้ำ ป่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็เท่ากับเราได้ใช้ทรัพยากรในที่ดินของเราได้อย่างคุ้มค่า มีทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ภายในบ้าน เป็นการพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง