หลักกสิกรรมธรรมชาติ 10 ขั้นตอน
หลักกสิกรรมธรรมชาติ 10 ขั้นตอน
หลักกสิกรรมธรรมชาติ คือ หลักการพื้นฐานในการจัดการดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ ที่เน้นความเข้าใจเพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติ ใช้ในการจัดการพื้นที่ แก้ปัญหาและป้องกัน น้ำท่วม น้ำแล้ง สร้างป่า พัฒนาคนด้านชีวิต จิตใจ และพัฒนาสังคมแห่งการแบ่งปันตามวิถีพอเพียง โดยแบ่งเป็น 10 ขั้นตอน ได้แก่
- การจัดการกลุ่ม สำรวจพื้นที่ แบ่งหน้าที่ แบ่งคน สร้างความสามัคคี
เริ่มจากการสำรวจพื้นที่เพื่อให้รู้บริบทของพื้นที่ทั้งเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่น ทิศทางของแสง และทิศทางของลม เป็นต้น จากนั้นจึงแบ่งงาน แบ่งคน ทำให้เกิดความเข้าใจและความรักสามัคคีของทีมงาน โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาพื้นที่
- การเตรียมพื้นที่
ขุดปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย โดยออกแบบให้สามารถเก็บกักน้ำได้ด้วยการขุดหนอง คลองไส้ไก่ และทำฝาย ทำทางเดินและสะพาน แล้วปรับพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูก โดยใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่เพื่อให้กลมกลืนกับธรรมชาติ
- ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แบบป่า 5 ระดับ
ปลูกป่า 3 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ เพื่อสร้างประโยชน์ 4 อย่าง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น ด้วยการปลูกไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลื้อยเรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน
- ไม้สูง สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และเป็นไม้เศรษฐกิจ
- ไม้กลาง เช่น ไม้ผลชนิดต่าง ๆ
- ไม้เตี้ย ได้แก่ พืชผักสวนครัวนานาชนิด
- ไม้เลื้อยเรี่ยดิน เช่น รางจืด ฟักข้าว
- ไม้หัวใต้ดิน เช่น ขิง ข่า มันชนิดต่าง ๆ
การปลูกป่า 5 ระดับ เป็นการสร้างระบบนิเวศให้สิ่งมีชีวิตได้เกื้อกูลกัน ตั้งแต่จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ใบไม้จากต้นไม้ใหญ่ที่ร่วงลงมาจะทับถมกลายเป็นปุ๋ยของพืช ดินก็จะมีความอุดมสมบูรณ์
- ปลูกแฝก อนุรักษ์ดินและน้ำ
การปลูกหญ้าแฝกมีประโยชน์ในการป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เพราะรากของหญ้าแฝกมีความยาวหลายเมตรทำให้สามารถยึดเหนี่ยวดินได้ดี อีกทั้งยังทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศลงไปในดินชั้นล่าง ทำให้ดินร่วนซุย เกิดความชื้น และมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิด
- ปลูกดอกไม้ เพื่อบริหารแมลง
เมื่อเราอนุรักษ์แมลงหลากหลายชนิด ก็จะเกิดการเกื้อกูลในระบบนิเวศ โดยใช้ธรรมชาติควบคุมธรรมชาติ ด้วยการใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช
- ตัวห้ำ กินแมลงศัตรูพืช กินเพลี้ย
- ตัวเบียน เข้าไปวางไข่ ทำให้หนอนไม่สามารถเจริญเติบโต
- การห่มดินด้วยฟางหรือเศษใบไม้แห้ง
“อย่าปอกเปลือกเปลือยดิน” การห่มดินเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูดินให้กลับคืนมามีชีวิต เพราะการห่มดินจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เกิดความร้อนชื้น ทำให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในดินเจริญเติบโตและทำงานได้ดี
ห่มดินด้วยฟางข้าว ใบไม้ หรือหญ้าหลากหลายชนิด ยิ่งมากชนิดยิ่งดี โดยในช่วงที่อากาศแห้งแล้งให้ห่มหนาหนึ่งฝ่ามือแนวตั้ง ส่วนในฤดูฝนที่อากาศมีความชื้นมากอยู่แล้วให้ห่มหนาหนึ่งฝ่ามือแนวนอน
- การเลี้ยงดินใส่ปุ๋ยอินทรีย์ “แห้งชาม-น้ำชาม”
“เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ดินที่ไม่มีชีวิตต้องฟื้นฟูด้วยการให้อาหารดินด้วยการผสมปุ๋ยหมัก เป็นการเลียนแบบฮิวมัสที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เรียกว่า “แห้งชาม” ด้วยการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติมาโรยใส่ฟางที่เราห่มไว้ แล้วตามด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่เรียกว่า “น้ำชาม” ด้วยน้ำหมักสมุนไพร 7 รส ซึ่งรสที่ใช้มากในภาคเกษตรคือ สมุนไพรรสจืด เพราะสามารถช่วยชำระล้างสารพิษในดินและน้ำ ช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตและช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยได้อย่างดี ดินก็จะดีขึ้น
- การท่องคาถาเลี้ยงดิน
เป็นหลักการในการปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูดิน เพื่อตอกย้ำให้ปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ได้แก่
“เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”
“Feed the soil and let the soil feed the plant.” (อังกฤษ)
“เจียมได๋ ออยได๋ เจียมตะนำ” (ขอม)
“เลี่ยงเทะ อึดเทะ เลี่ยงละชิว”(ชอง)
“เลี้ยงแม่ธรณี ให้แม่ธรณีเลี้ยงแม่โพสพ”
- ศิลปะ ความสวยงาม ความเรียบร้อยของแปลง
นอกจากเราจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในด้านกสิกรรมธรรมชาติแล้ว พื้นที่ของเราควรจะมีความสวยงามเพื่อจรรโลงจิตใจด้วย โดยเริ่มจากการออกแบบที่เป็นสัดเป็นส่วน จัดแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสมทั้งการใช้อาศัยพักพิงรวมทั้งพักผ่อนหย่อนใจ การดูแลพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าปล่อยให้รกเพื่อให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย โดยหมั่นตัดแต่งกิ่งที่รกออกเพื่อให้เข้าถึงดูแลได้ง่าย ไม่บดบังกัน เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงแดด เจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่
- การจัดเก็บอุปกรณ์ ล้างทำความสะอาด จัดวางให้เป็นระเบียบ
อุปกรณ์การเกษตรนับเป็นเครื่องทุ่นแรงสำหรับการกสิกรรมที่ทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น จอบ เสียม พลั่ว บุ้งกี๋ และอื่น ๆ ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้งาน หากชำรุดก็ควรซ่อมแซม และการจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อที่จะได้หยิบใช้ได้ง่ายและปลอดภัยไม่เกิดอันตราย
ปรับหลักการให้เหมาะสมกับข้อจำกัด
หลักการทั้ง 10 ข้อนี้เป็นแนวทางในการ “ตรวจแปลง” แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำทุกข้อ ให้เลือกทำตามความเหมาะสมของสภาพภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ของแต่ละพื้นที่
กสิกรรมธรรมชาติ คือ วิถีชีวิตของคนเรา การดูแลดิน น้ำ ป่า เป็นหน้าที่ของทุกคน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับโลกใบนี้ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ