การเอามื้อสามัคคี
การเอามื้อสามัคคี
การเอามื้อสามัคคี หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า “ลงแขก” คนภาคเหนือเรียกว่า “เอามื้อ” คนอีสานเรียกว่า “เอาแฮง” คนภาคใต้เรียกว่า “ออกปาก” เป็นการช่วยเหลือกันในชุมชนด้วยการไปช่วยงานในแปลงของเพื่อนบ้านหรือเครือข่าย เป็นการทำงานแบบคนจนเพราะใช้งบประมาณน้อย โดยอาศัยแรงงานไปช่วยกันทำงานในแปลงที่ต้องการขุดปรับพื้นที่ ก่อสร้าง ปลูกต้นไม้ หรือเก็บเกี่ยว เป็นต้น โดยจะหมุนเวียนไปช่วยกันทำงานในแปลงต่าง ๆ ที่ต้องการแรงงาน ทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คนที่มาร่วมลงแขกได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ในแต่ละด้าน ที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะ
รู้จักให้
การเอามื้อสามัคคีเป็นการทำงานที่ขับเคลื่อนงานด้วยการให้ ซึ่งเราสามารถสนับสนุนได้หลากหลายรูปแบบตามความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคล เช่น ใครถนัดขุดก็ขุด ใครถนัดงานสวัสดิการก็ไปทำด้านสวัสดิการ สิ่งที่สำคัญคือจะต้องมีใจก่อน ส่วนความรู้นั้นสามารถไปเรียนรู้เอาจากการลงมือทำงานได้
กระบวนการเอามื้อ
1. ทำงานต้องได้งาน
2. ทำงานต้องได้เพื่อน
3. ทำงานต้องได้พัฒนาตนเอง
ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา (Our loss is our gain.)
การเอามื้อสามัคคียังเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงาน ความรู้ และผลผลิต ตามกำลังและความสามารถของตนเอง เช่น การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ และพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยช่วยเหลือแบ่งปันกันขยายออกไปเป็นเครือข่าย
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้เป็นเจ้าของพื้นที่จัดการเอามื้อ
1. กำหนดกิจกรรมและเป้าหมายของงาน แยกแยะว่างานมีอะไรบ้าง เพื่อการแบ่งคน แบ่งงาน จัดสรรทรัพยากร และเวลาได้อย่างเหมาะสม โดยกำหนดรายละเอียดกิจกรรมให้ชัดเจน และผู้ร่วมเอามื้อว่ามีใครบ้างมา
2. เชิญวิทยากร ครูพาทำ หรือครูกระบวนการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในงานที่ต้องการเอามื้อ ซึ่งจะต้องมีความแม่นยำทั้งเรื่องทฤษฎี และปฏิบัติ สามารถแบ่งงานและแบ่งคนให้เป็น โดยก่อนลงมือทำงานให้ผู้ร่วมเอามื้อทุกคนมาเข้าแถวรับฟังรายละเอียดของงาน แบ่งคน แบ่งงาน แล้วสอนว่าต้องทำอย่างไร พร้อมติดตามการทำงาน ตรวจงานว่าถูกต้องเรียบร้อยหรือไม่ หากพบข้อผิดพลาดจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องทันที
การมาร่วมเอามื้อจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ทางลัดจากผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถ โดยสามารถติดต่อเชิญวิทยากรหรือครูพาทำได้จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือเชิญเจ้าของพื้นที่ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการทำมาก่อน
3. หาผู้ประสานงานลงทะเบียน เพื่อนัดหมายเครือข่ายและลงทะเบียนรายชื่อผู้ร่วมเอามื้อในวันงาน
4. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน เช่น ปากกา กระดาษ คลิปหนีบกระดาษ กระดานดำหรือกระดาษใช้สอน และอื่น ๆ เพื่อใช้ในการลงทะเบียน การสอน และการจดบันทึกเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือการทำแบบสอบถามต่าง ๆ
5. เตรียมฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายสวัสดิการคือ ฝ่ายที่คอยดูแลและสนับสนุนการทำงาน ช่วยแบ่งคน แบ่งงาน แบ่งกลุ่ม ดูแลแจกจ่ายน้ำ เสบียงต่าง ๆ ประสานเรื่องอุปกรณ์หน้างาน นอกจากนี้ฝ่ายสวัสดิการสามารถช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน เช่น การร้องเพลง เพื่อให้การทำงาน “คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง”
6. เตรียมอาหาร เจ้าภาพการจัดงานเอามื้อสามัคคี เจ้าบ้านสามารถเตรียมอาหาร น้ำ ของว่างต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและความพร้อม หรือแจ้งให้ผู้ร่วมเอามื้อนำอาหารมาเอง เพื่อลดภาระการจัดเตรียมของเจ้าของพื้นที่ และยังเป็นการแบ่งปันอาหารจากผลผลิตของแต่ละแปลง สร้างมิตรภาพและเพิ่มความสนิทสนมให้เกิดขึ้นในการรับประทานอาหารร่วมกัน
7. เตรียมสถานที่ จัดเตรียมสถานที่ เช่น จุดรวมพล ห้องน้ำ ที่พัก ให้มีสถานที่มีร่มเงาสำหรับนั่งพัก รวมถึงจัดชุดปฐมพยาบาลให้พร้อม
8. เตรียมระบบจราจรและที่จอดรถ เพื่อการขนส่งคน วัสดุ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงต้องจัดระบบจราจร ที่จอดรถ ประสานการรับ-ส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมเอามื้อ
9. เตรียมอุปกรณ์การเกษตร จัดหาและเตรียมอุปกรณ์การเกษตร ให้เพียงพอต่อจำนวนคนที่มาเอามื้อและมีความเหมาะสมกับงานที่ต้องทำ เช่น จอบ พลั่ว บัวรดน้ำ และอื่น ๆ นอกจากนี้ผู้ร่วมเอามื้ออาจนำอุปกรณ์มาเองเพื่อความถนัด
10. จัดทำป้ายความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มาร่วมเอามื้อสามัคคีให้เข้าใจกิจกรรมที่ทำมากขึ้นและยังเป็นการช่วยเผยแพร่ศาสตร์พระราชาอีกด้วย เช่น ชุดความรู้ ป่า 5 ระดับ โคก หนอง นา และคลองไส้ไก่ เป็นต้น
11. สื่อประชาสัมพันธ์ จัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ บอกวัน เวลา สถานที่ และเชิญชวนเครือข่ายมาร่วมงานเอามื้อสามัคคีที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงป้ายบอกทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ร่วมงาน
การเอามื้อสามัคคีจึงเป็นมากกว่างาน เพราะได้เจอเพื่อน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางใจที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ กันทำงาน ทำให้เกิดมิตรภาพและความผูกพัน ยิ่งเมื่อทำงานด้วยหลัก 3 ค. คือ “คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง” จะทำให้เกิดความผ่อนคลาย หายเหนื่อย และสนุกสนานไปกับการทำงาน
การเอามื้อสามัคคีในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือหัวใจของการเอามื้อสามัคคี ซึ่งก็คือ การขับเคลื่อนด้วยการให้ การแบ่งปัน และการช่วยเหลือกัน การเอามื้อสามัคคีจึงเป็นส่วนสำคัญของการบริหารแบบคนจนเพราะไม่ต้องใช้ทุนจำนวนมากในการบริหารจัดการ แต่อาศัยความสัมพันธ์ของเพื่อนและเครือข่ายที่จะช่วยขยายความสำเร็จต่อ ๆ กันไป ดังข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเอามื้อสามัคคี