การสำรวจพื้นที่เบื้องต้น

การสำรวจพื้นที่เบื้องต้น

การสำรวจพื้นที่เบื้องต้น

การออกแบบพื้นที่ตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ จะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ของเรา ทั้งในด้านกสิกรรมและการอยู่อาศัย แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนการออกแบบ เราจะต้องทำความรู้จักภูมิศาสตร์ของพื้นที่เราและสังคมศาสตร์รอบตัวเรา โดยการสำรวจรอบแปลงเสียก่อน

หลักการออกแบบโคก หนอง นา เป็นการออกแบบตามสภาพภูมิสังคม ซึ่งอิงภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์

  • ภูมิศาสตร์ ได้แก่ เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ (แสง) พืช
  • สังคมศาสตร์ ได้แก่ เรื่องของตัวเอง ครอบครัว เพื่อนบ้าน ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี

การวาดแผนผังของพื้นที่

เริ่มจากการสำรวจพื้นที่ โดยวาดรูปพื้นที่และกำหนดขนาดพื้นที่ตัวอย่างเช่น แปลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดพื้นที่ 3 ไร่ วาดแบ่งช่องสี่เหลี่ยมให้ได้ 3 ช่องเท่า ๆ กัน และในหนึ่งช่องให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อที่จะกำหนดสัดส่วนของสิ่งต่าง ๆ ลงไปในพื้นที่ได้สะดวก

ขั้นต่อมา คือการสังเกตทิศทางของตำแหน่งพื้นที่ ให้สังเกตว่าทิศเหนืออยู่ด้านไหนก็เขียนลงไป เพราะมีผลต่อเรื่องของลมและแสง ซึ่งลมประจำถิ่นประจำประเทศไทย ได้แก่ ลมหนาว พัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนลมมรสุม ลมร้อน ลมทะเล จะพัดเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ทิศทางแสง พระอาทิตย์ในประเทศไทยเคลื่อนอ้อมใต้ 8 เดือน โดยขึ้นจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกแบบอ้อมไปทางใต้ ดังนั้นทิศใต้จะเป็นทิศที่รับแสงตลอด 8 เดือน

เมื่อรู้เรื่องแกนทิศ ลม และแสง เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็ลงสำรวจพื้นที่จริง โดยสังเกตบริเวณโดยรอบ ดูว่าพื้นที่สี่ด้านของเราติดอะไรบ้าง เช่น ด้านหน้า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดถนน ด้านหลังเป็นคลองธรรมชาติขนาดเล็ก ให้ใส่ลงไปในผังเพื่อที่จะได้รู้ว่าทางน้ำที่จะออกจากพื้นที่ออกไปทางไหน หรือในช่วงชาดแคลนน้ำจะต้องดึงน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติเข้าแปลงมาทางไหนจึงจะใกล้แปลงเราที่สุด หากด้านซ้ายและขวาเป็นนา ก็ให้กำหนดลงไปในผัง พร้อมใส่ตำแหน่งบ้านของเพื่อนบ้านลงไป

จากนั้นให้ดูลักษณะของดินว่าดินของเราเป็นดินชนิดไหน เป็นดินร่วนหรือดินเหนียว ซึ่งนอกจากจะได้เลือกต้นไม้ให้เหมาะสมกับการปลูกแล้ว ยังมีผลต่อการวางองศาของการขุดหนองน้ำว่าจะสามารถขุดได้ชันมากแค่ไหน ถ้าเป็นดินเหนียวก็สามารถขุดให้ชันได้มากกว่าดินทราย เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินหลังการขุด

ต่อจากนั้นให้สำรวจเส้นทางน้ำในพื้นที่ว่าเวลาฝนตกน้ำไหนไปทางไหน หรือเวลารดน้ำต้นไม้แล้วน้ำไหลไปทางไหน ซึ่งน้ำจะไหลลงจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำเสมอ

การสำรวจพื้นที่ให้ดูว่าในพื้นที่มีอะไรอยู่บ้าง เช่น มีต้นไม้ใหญ่ หนองน้ำ ร่องน้ำ ให้กะประมาณด้วยสายตาว่ามีขนาดพื้นที่เท่าไร ก็ให้กำหนดลงไปในผังด้วย

เมื่อเราสำรวจทางน้ำเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นการสำรวจทางเข้า-ออก เพื่อดูว่าจะต้องปรับเปลี่ยนทางเข้า-ออกหรือไม่ เพื่อที่จะไม่เป็นปัญหาในอนาคต  เช่น ทางเข้าพื้นที่ของเดิมอยู่หมิ่นเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ดินทรุดหรือทลายลงได้ง่าย หรือแปลงอยู่ติดถนน ให้ดูว่ามีแนวเสาไฟฟ้าหรือไม่ เพราะพื้นที่ใต้สายไฟไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ที่จะระสายไฟได้ในอนาคต

นอกจากนั้น การสำรวจพื้นที่ให้สำรวจเรื่องสังคมรอบตัวด้วย ทั้งเรื่องคน ตัวเอง ครอบครัว และสังเกตกิจกรรมของเพื่อนบ้านรอบตัวว่ามีอะไรบ้าง เช่น หากมีเล้าเป็ด เล้าไก่อยู่ในตำแหน่งที่ลมพัดเข้ามาหาเราพอดี เราจะได้หลีกเลี่ยงที่จะสร้างอาคารไว้ใต้ลมนั้น หรือจะได้ปลูกต้นไม้เพื่อกันลมกันกลิ่น นอกจากนี้ให้หาข้อมูลจากเพื่อนบ้าน เช่น ปีที่แล้วในหน้าน้ำน้ำหลากไหม หน้าลม ลมแรงไหม เป็นต้น

สรุปหลักการสำรวจพื้นที่

ด้านภูมิศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์
  • ระบุขนาด รูปร่างของพื้นที่
  • กำหนดทิศทางลมและแสง
  • สำรวจบริเวณรอบพื้นที่
  • สังเกตลักษณะของดิน
  • สำรวจเส้นทางน้ำ
  • สำรวจลักษณะภายในพื้นที่
  • สำรวจเส้นทางเข้า-ออก
  • เรื่องของตัวเองและครอบครัว
  • กิจกรรมของเพื่อนบ้าน
  • ความเชื่อ
  • ศาสนา
  • วัฒนธรรม
  • ประเพณี
  • ฯลฯ

 

จะเห็นได้ว่าการเดินสำรวจพื้นที่มีมิติที่เป็นรายละเอียดของพื้นที่มากมาย ซึ่งหากสำรวจจากแผนที่หรือภาพถ่ายทางอากาศอาจจะมองไม่เห็น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความคิดระหว่างสำรวจที่จะนำไปสู่การออกแบบตามที่เราต้องการและไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับพื้นที่ในอนาคตด้วย