ดิน
ดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช ควบคู่ไปกับ น้ำ อากาศ และแสงแดด
ดินเป็นที่ยึดเหนี่ยวของรากพืช
บทบาทของดินอย่างแรก คือ ดินเป็นที่ยึดเหนี่ยวของรากพืชทั้งในแนวลึกและแนวราบ ซึ่งการยึดเหนี่ยวของรากพืชจะมั่นคงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า รากสามารถชอนไชลงผ่านชั้นดินในพื้นที่ของเราได้มากน้อยเพียงใด
ดินชั้น A เป็นดินชั้นบนสุด หรือชั้นไถพรวน นับตั้งแต่ผิวดินลึกลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นชั้นที่มีการสะสมของน้ำ และซากพืชซากสัตว์หรืออินทรียวัตถุมากที่สุด ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้ง่าย ถ้าดินชั้นนี้มีความหนามาก รากของพืชชอนไชได้ง่าย พืชในพื้นที่ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง
ดินชั้น B เป็นดินชั้นล่าง หรืออยู่ถัดจากดินชั้นบนลึกลงไปประมาณ 1 เมตร เป็นดินที่มีความหนาแน่นกว่าดินชั้นบน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกชะล้างลงมาอัดกัน เป็นที่สะสมน้ำ ธาตุอาหาร และอากาศสำหรับพืช แม้ว่าจะไม่อุดมสมบูรณ์เท่าดินชั้นบน แต่หากดินชั้นนี้ไม่แน่นมาก รากไม้ที่สามารถชอนไชและยึดดินชั้นนี้ไว้ได้ก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้น
ดินชั้น C เป็นชั้นดินที่ลึกถัดจากดินชั้น B ลงไปมากกว่า 1 เมตร ประกอบด้วยหินและแร่ธาตุที่กำลังย่อยสลายผุกร่อนจากกระบวนการทางธรรมชาติ พืชยืนต้นหรือพืชที่มีรากแก้วอาจชอนไชและยึดลงมาถึงชั้นนี้ ทำให้พืชมั่นคงมาก แม้ว่าดินชั้นนี้จะไม่มีประโยชน์ต่อพืชมากนัก แต่อาจจะมีน้ำใต้ดินสะสมอยู่ระหว่างช่องว่างของเม็ดหินและแร่ธาตุอยู่บ้าง
ดินชั้น R เป็นชั้นของหินแข็ง น้ำหรือธาตุอาหารจะซึมผ่านดินชั้นนี้ลงไปได้ยาก
ตัวอย่างการยึดรากของพืช
- มะม่วง รากแก้วลึก 1-6 เมตร
- มะพร้าว รากสามารถชอนไชลงหาน้ำใต้ดินประมาณ 2 เมตร
- อ้อย รากลึก 30-45 เซนติเมตร
- ต้นข้าว รากแผ่กระจายใต้ผิวดินลึก 15-20 เซนติเมตร
- กล้วย ระบบรากฝอยสามารถกระจายกว้างได้ถึง 5 เมตร ลึก 75 เซนติเมตร
- มังคุด รากแก้วหยั่งลึก 90-120 เซนติเมตร
- กะเพรา รากลึกปานกลาง 25-50 เซนติเมตร
- พริก รากแก้วลึกได้ถึง 1.2 เมตร ส่วนรากฝอยแผ่กว้างใต้ผิวดินในระดับ 60 เซนติเมตร
ดินเป็นช่องทางในการรับน้ำ อากาศ และธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
ถ้าเรามีเนื้อดินที่ดี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร และมีความหนาแน่นเหมาะสมกับรากพืชที่ปลูก ก็จะทำให้พืชนั้นเจริญเติบโตตามต้องการ
การแบ่งประเภทของดินตามลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่
ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำสายใหญ่ เช่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน หรือบริเวณแอ่งโคราชในภาคอีสาน ลุ่มแม่น้ำแม่กลองในภาคตะวันตก และลุ่มแม่น้ำตาปีในภาคใต้ ดินจะมีสัดส่วนของดินเหนียวมาก
บนเนินตะพักของลำน้ำ หรือเนินตะกอนดินที่ถูกแม่น้ำพัดพามา พื้นที่เป็นโคก หรือบนเนินอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำในภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก หรือภาคเหนือ มักจะเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนเหนียว
บริเวณเชิงเขา บนที่ราบสูง ริมแม่น้ำในภาคอีสาน หรือพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทางภาคตะวันออกและภาคใต้ มักจะเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินทราย
ประเภทของดิน
เราสามารถสังเกตประเภทของเนื้อดินในพื้นที่ของเราเองได้เบื้องต้นจากการสัมผัสเนื้อดิน
1. ดินเหนียว มีเนื้อละเอียด อ่อนนุ่ม เหนียวติดมือ เมื่อดินแห้งจะเป็นก้อนแข็ง คุณสมบัติที่ดีคือ สามารถอุ้มน้ำและธาตุอาหารได้มากกว่าดินประเภทอื่น แต่ข้อเสียก็คือ ไถพรวนลำบาก เพราะเมื่อแห้งจะแข็ง เมื่อเปียกก็จะเหนียวจัด รากพืชจะชอนไชได้ยาก และระบายน้ำได้ไม่ดี
2. ดินร่วน มีเนื้อละเอียดปานกลาง อ่อนนุ่ม เมื่อชื้นจะค่อนข้างเหนียว คุณสมบัติที่ดีคือ มีความหนาแน่นปานกลาง รากพืชส่วนใหญ่ชอนไชยึดเหนี่ยวได้ง่าย สามารถอุ้มน้ำและธาตุอาหารได้ดีพอประมาณ ไถพรวนได้ง่าย ระบายน้ำได้ดี แต่ต้องคอยดูแลเสริมน้ำและธาตุอาหารที่ถูกระบายออกไปเป็นระยะด้วย
3. ดินทราย เนื้อดินมีลักษณะเป็นทราย สากมือ เมื่อแห้งจะปั้นเป็นก้อนไม่ได้เพราะจะแตกง่าย ข้อดีคือ โปร่ง ไถพรวนง่าย รากพืชชอนไชได้ง่าย การถ่ายเทอากาศดี ระบายน้ำได้ดีมาก ซึ่งทำให้ดินแห้งง่าย จึงต้องรดน้ำและเติมธาตุอาหารบ่อย ๆ การยึดเหนี่ยวของรากพืชจะไม่แข็งแรงเท่ากับดินประเภทอื่น จึงต้องการการดูแลมากขึ้น
การปรับปรุงดิน
เมื่อรู้จักประเภทของดินในพื้นที่ของตัวเองแล้ว ก็ให้เลือกประเภทพืชที่ปลูกให้เหมาะกับดินในพื้นที่ของเรา หรือปรับปรุงดินให้เข้ากับความต้องการของพืชที่ปลูก นอกจากนี้ ควรแบ่งโซนตามชนิดของพืชเพื่อให้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น
- การปรับปรุงดินให้เหมาะสมด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพรสจืด ช่วยแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และกำจัดสารเคมีในดิน
- การใช้น้ำหมักชีวภาพรสเปรี้ยว ช่วยแก้ปัญหาดินด่าง
- การใช้วิธีล้างดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ ช่วยแก้ปัญหาดินเค็ม
การบำรุงดินด้วยการไถกลบปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมักชีวภาพ จะช่วยให้ดินอุ้มน้ำดีขึ้น มีธาตุอาหารมากขึ้น เกิดสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในดินเป็นการช่วยพรวนดินให้โปร่งขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังควรหมุนเวียนประเภทพืชในพื้นที่ปลูก เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของดิน
ตัวอย่างความต้องการของพืช
- มะเขือเปราะ ปลูกได้ในดินร่วนระบายน้ำได้ดี หน้าดินไม่แห้งผาก และไม่แฉะ
- ขนุน ปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทรายมากที่สุด
- สะเดา ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี
- ฝรั่ง เหมาะกับดินร่วนปนเหนียว อุ้มน้ำได้ดี แต่ไม่ขังโคนต้น
- โหระพา ปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำและอากาศได้ดี