ปุ๋ย

ปุ๋ย

ดินมีความสำคัญต่อพืช  เพื่อช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เราจึงจำเป็นต้อง “เลี้ยงดิน” โดยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างสม่ำเสมอ
วิถีกสิกรรมธรรมชาติจะเติมธาตุอาหารในดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อช่วยรักษาสภาพของดินไม่ให้เสื่อมโทรม อีกทั้งเป็นการเพิ่มธาตุอาหารที่พืชต้องการ เพราะนอกจาก น้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจนแล้ว พืชยังต้องการธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ซึ่งธาตุอาหารแต่ละอย่างช่วยบำรุงพืชในด้านต่าง ๆ กัน

  • ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน Nitrogen (N) ฟอสฟอรัส Phosphorus (P) โพแทสเซียม Potassium (K)
  • ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม Calcium (Ca) แมกนีเซียม Magnesium (Mg) กำมะถัน Sulfur (S)
  • ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ โบรอน Boron (B) ทองแดง Copper (Cu) คลอรีน Chlorine (Cl) เหล็ก Iron (Fe) แมงกานีส Manganese (Mn) โมลิบดีนัม Molybdenum (Mo) สังกะสี Zinc (Zn) นิกเกิล Nickel (Ni)

“ห่มดิน แห้งชาม น้ำชาม” ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ
ห่มดิน คือ การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาห่มดิน ได้แก่ ฟาง ใบไม้แห้ง เปลือกข้าวโพด หรือการใช้ปุ๋ยพืชสด

  • ปุ๋ยพืชสด ได้แก่ การปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทือง แล้วไถกลบในขณะที่พืชเริ่มออกดอก ซึ่งเป็นเวลาที่พืชให้ธาตุอาหารสูงสุด เมื่อไถกลบแล้วให้ทิ้งไว้อย่างน้อย 7-15 วัน อาจเร่งการย่อยสลายด้วยการรดน้ำหมักรสจืด

แห้งชาม เป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินเพื่อบำรุงให้พืชเจริญเติบโต โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแห้ง หรือปุ๋ยหมักพืชสด

  • ปุ๋ยคอก ได้แก่ มูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น มูลวัว มูลหมู มูลม้า มูลเป็ด และมูลไก่ เป็นต้น โดยนำไปตากแห้ง แล้วโรยใส่โคนต้น แต่การใช้ปุ๋ยคอกโดยตรงกับต้นพืชมีข้อเสีย คือ เกิดความร้อนจากกระบวนการย่อยสลาย ซึ่งจะแย่งออกซิเจนจากพืชและทำลายรากพืชได้
  • ปุ๋ยหมักแห้ง โดยผสมมูลสัตว์ แกลบดิบ แกลบดำ และรำละเอียด อย่างละเท่า ๆ กัน คลุกเคล้าให้เข้ากัน  แล้วรดด้วยน้ำหมักรสจืดเพื่อเร่งกระบวนการในการหมัก ซึ่งในช่วง 3-5 วันแรกจะเกิดความร้อนสูงช่วยทำลายเชื้อรา แบคทีเรีย และเมล็ดวัชพืชที่ปนมากับมูลสัตว์ จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน จนกว่าปุ๋ยเย็นลงจึงนำมาใช้งาน
  • ปุ๋ยหมักพืชสด ด้วยพืชที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น หญ้าเนเปียร์ ใบขี้เหล็ก และต้นสาบเสือ เป็นต้น โดยนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ผสมกับรำละเอียดและน้ำหมักรสจืด แล้วหมักไว้จนกว่าจะไม่มีความร้อนจึงนำมาใช้งาน

น้ำชาม ได้แก่ ปุ๋ยน้ำหมัก (น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ) เช่น น้ำหมักสมุนไพร 7 รส ซึ่งเราจะใช้น้ำหมักรสจืดเป็นหลัก เพราะนอกจากจะช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุเพื่อบำรุงดินแล้ว ยังช่วยกำจัดสารพิษด้วย และปุ๋ยน้ำหมักจากเศษอาหาร

  • น้ำหมักรสจืด ได้แก่ น้ำหมักที่ทำมาผักหรือสมุนไพรรสจืด เช่น ผักบุ้ง หยวกกล้วย หรือรางจืด โดยผสมผัก 3 กิโลกรัม สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ 1 ลิตร และน้ำสะอาด 10 ลิตร หมักใส่ถังไว้อย่างน้อย 3 เดือน จึงนำไปใช้ได้
  • น้ำหมักจากเศษอาหาร คือ น้ำหมักที่ทำจากเศษพืชผักและอาหารเหลือในครัวเรือน โดยผสมเศษอาหาร 3 กิโลกรัม สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ 1 ลิตร และน้ำสะอาด 10 ลิตร  นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วหมักไว้ประมาณ 3 เดือน จึงนำไปใช้ได้ 

เมื่อดินดี คือ ดินร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดีขึ้น  จึงเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช เกิดสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น ไส้เดือน แมลง และจุลินทรีย์  สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ เป็นการคืนชีวิตให้กับดิน สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ แล้วดินจะไปเลี้ยงพืชให้เจริญงอกงาม ดังวลีที่ว่า “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคลังความรู้ เรื่อง การบำรุงดิน น้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพจากสมุนไพร 7 รส ห่มดิน...เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช รู้จักปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสูตรน้ำ