หลุมขนมครก
หลุมขนมครก คือ ทุกรูปแบบของการกักเก็บน้ำ ทั้งบนดิน และใต้ดิน ในพื้นที่ของคุณ เพื่อให้มีน้้ำไว้ใช้พอเพียง
เก็บน้ำไว้ที่ไหนได้บ้าง?
หนอง
เก็บน้ำได้เท่าความกว้าง ยาว ลึก ของหนองที่ขุด น้ำระเหยปีละ 300 วัน วันละ 1 ซม. น้ำระเหยปีละ 3 เมตร ดังนั้นต้องขุดลึกกว่า 3 เมตร จึงจะเหลือน้ำพอในหน้าแล้ง หนอง ควรอยู่ทางทิศที่ลมร้อนพัดผ่าน เพื่อให้พัดความเย็นเข้าบ้านได้
นา
ยกหัวคันนาสูงอย่างน้อย 1 เมตร เก็บน้ำไว้เท่าความสูงและขนาดกว้าง ยาว ของนา นา 1 ไร่ ขนาด 1600 ตร.ม. ยกคันนาสูง 1 เมตร เก็บน้ำได้ 1600 ลบ.ม. น้ำซึมลงดินอย่างน้อย 50% เหลือน้ำครึ่งหนึ่งของปริมาณฝนที่ตก
โคก
นำดินมาทำโคก สำหรับปลูกป่า 3 อย่าง ไม้พอกิน พออยู่ พอทำเครื่องใช้ ไม้สอย และสร้างระบบนิเวศสมดุล โคกเก็บน้ำไว้จากป่าบนโคก น้ำเก็บในใต้ดินได้ประมาณ 50% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา โคกควรอยู่ทางทิศตะวันตก เมื่อปลูกต้นไม้สูง ๆ ไว้บนโคกหรือเนินก็จะสามารถบดบังแสงอาทิตย์ยามบ่ายซึ่งร้อนจัดไม่ให้เข้ามาแผ่ความร้อนในบ้านได้
คลองไส้ไก่
ขุดคลองไส้ไก่คดเคี้ยวในพื้นที่ เป็นทางน้ำบนดินเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับพื้นที่ ไม่ต้องวางท่อ ไม่ต้องติดสปริงเกอร์ ขุดบ่อพักน้ำไว้เป็นระยะ เพื่อดักน้ำให้กระจายทั่ว ลดภาระการรดน้ำ เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณ
ฝาย
สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายกักตะกอน ตามคลองไส้ไก่ หรือทางน้ำ ฝายช่วยชะลอความเร็วของน้ำ และทำหน้าที่ดักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในหนอง นำตะกอนที่ได้กลับมาทำปุ๋ยหมัก
แท็งก์น้ำ
สำหรับเก็บน้ำในสถานที่จำกัด หรือกรณีต้องการนำน้ำขึ้นที่สูง สร้างถังน้ำแบบบ้าน ๆ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้าง ฉาบปูน วางตำแหน่งแท็งก์น้ำบนที่สูง เพื่อปล่อยน้ำลงมาตามคลองไส้ไก่ (นำน้ำขึ้นที่สูงด้วยพลังแสงอาทิตย์)
ตุ่ม
รับน้ำจากหลังคาด้วยรางน้ำ ต่อรางลงตุ่มเก็บน้ำไว้ใช้ ตุ่มน้ำ เป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุดสำหรับเก็บน้ำฝน ทุกบ้านสามารถทำได้ และหากต้องการประหยัดพื้นที่ สามารถฝังตุ่มไว้ใต้พื้นดิน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านบน
ป่า
ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่าต่างระดับ 5 ชั้น ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และพืชหัว เพื่อให้รากสานกันหลายระดับ กักเก็บน้ำและป้องกันการพังทลายของดิน ปลูกแฝกเพื่อช่วยเก็บน้ำไว้ใต้ดิน และป้องกันการพังทลายของดิน