รวมพล “คนอาสา” เดิน วิ่ง ปั่น จากกรุงเทพฯ-สระบุรี 9 วัน รวมใจมุ่งสืบสานงานของพ่อ แก้ปัญหาวิกฤติน้ำอย่างยั่งยืน
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 1
กว่า 170 กิโลเมตร ตลอด 9 วัน ของการเดินทางจากปลายน้ำ กรุงเทพฯ ไปยังต้นน้ำ เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สระบุรี เพื่อสืบสานงานของพ่อ กลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนกว่าหนึ่งพันคน ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ต่างแสดงพลังร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ทั้ง เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ลัดเลาะขึ้นไปตามลุ่มน้ำป่าสัก พวกเขามุมานะเดินทางเพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพลังคน ตามแนวคิด “จากภูผา... สู่มหานที” เพื่อช่วยกันป้องกันและแก้ไขวิกฤติน้ำอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังแวะเยี่ยมเยือน และเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านตามชุมชนรายทาง ที่ได้นำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติจริง จนสามารถพึ่งพาตนเองและเผื่อแผ่แบ่งปันแก่ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยปัญหาการจัดการน้ำบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่บริหารจัดการยาก จนมีพระราชดำรัสซึ่งกระทบใจเหล่าพสกนิกรทั้งมวลว่า “ถ้าออกจากโรงพยาบาลเมื่อไร จะช่วยได้มากกว่านี้...”
- พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงห่วงใย แล้วเราจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งน้ำเพี่อป้องกันภัยพิบัติอย่างยั่งยืน แม้ยามทรงพระประชวร พระองค์ทรงทุ่มเททรงงาน จากพระเมตตาอันเปี่ยมล้นที่ทรงมีต่อพสกนิกร กลายเป็นแรงบันดาลใจอันแน่วแน่ที่จะสร้างพลังคนให้ร่วมกันเดินตามรอยศาสตร์ที่พระองค์ได้ทรงชี้แนะแนวทาง ซึ่งทั้งหมดเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพวกเราเอง”
- ลุ่มน้ำเฝ้าระวัง “ลุ่มน้ำป่าสัก”
จากข้อมูลของ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ลุ่มน้ำที่ต้องพึงเฝ้าระวังมากที่สุดจาก 9 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย ทั้งเผา ไถ ตัด จนเกิดเป็นเนินเขาหัวโล้น ซ้ำยังทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง สวนยาง ข้าวโพด ทำให้ขาดพื้นที่ป่าผสมผสานที่จะช่วยยึดเกาะหน้าดินและอุ้มน้ำ เวลาฝนตกก็จะชะล้างเอาตะกอนดินทั้งหลายหลากมากับน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ สู่เขื่อน ทำให้หนองน้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขิน เขื่อนและอ่างเก็บน้ำก็เหลือพื้นที่เก็บน้ำได้น้อยลง หน้าแล้งจึงแล้งจัด หน้าน้ำหลากก็มีน้ำเหลือล้นทะลักลงมาก็ท่วมบ้านเรือนในที่สุด ประชาชนที่อยู่ในลุ่มน้ำนี้จึงได้รับผลกระทบ ตั้งแต่จังหวัดเลย ไล่มาถึงน้ำหนาว เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา กรุงเทพฯ ไปจนถึงสมุทรปราการ
“เราต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไปช่วยชาวบ้านในการทำพื้นที่สำหรับอุ้มน้ำ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงทำโมเดลต้นแบบให้ดู เรียกว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นแบบที่ใช้ได้ผลจริง คือ ขุดหนองไว้เก็บน้ำใช้ ไว้ทำการเกษตร เอาดินจากการขุดหนองไปทำโคก เอาบ้านไปอยู่บนโคกที่เป็นที่สูง ปลูกป่าปลูกต้นไม้ไว้บนโคก ไว้กินไว้ใช้ เหลือก็เก็บขาย และยกหัวคันนาให้สูง เมื่อตะกอนลงมาจะได้ถูกเก็บไว้ในฝายคันนา เมื่อฝนตกลงมาเราอุ้มน้ำได้ 100 เปอร์เซนต์ ไม่ปล่อยให้ไปท่วมใคร อุ้มน้ำฝนไว้ได้หมด ตามที่ในหลวง ร.9 ท่านตรัสไว้ วิธีนี้จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืนที่สุด” ดร.วิวัฒน์กล่าว
- รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน
การรวมพลังน้อมนำศาสตร์พระราชาลงสู่การปฏิบัติจริง เพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โดยมี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุน ผนึกกำลังกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ รายการเจาะใจ หน่วยงานภาครัฐ ศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศร จ.สระบุรี ภาคเอกชนอย่าง บริษัทริเวอร์โปร โรงเรียน วัด ฯลฯ พร้อมใจกันสืบสานงานของพ่อ รวมพลังกันเป็นขบวนรณรงค์ตามรอยพ่อของแผ่นดิน ประกอบด้วยคณะผู้บริหาร ศิลปินดารา คณะสงฆ์ ทหาร นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ เด็ก ๆ นักเรียนจาก ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย และโรงเรียนบ้านโป่งเกตุ ชุมชนจากบ้านหนองโน ชมรมวิทยุสมัครเล่น VR ทางหลวง นักปั่น นักเดิน และนักวิ่ง รวมพลังกันกว่า 1,500 คน ได้เริ่มออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าไปยังบริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี เป็นเวลา 9 วันเต็ม
- 9 วันแห่งความเพียร ก้าวแรกแห่งการตระหนักรู้
ตลอดการเดินทางตามรอยพ่อของแผ่นดิน ขบวนรณรงค์ผ่านชุมชนที่มีเรื่องราวเกี่ยวพันและได้รับผลกระทบจากลุ่มน้ำป่าสัก บางจุดเป็นต้นแบบที่มีการนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้จนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ทุกคนทั้งคนในขบวนรณรงค์และคนในพื้นที่จึงได้เรียนรู้และแบ่งปันกำลังใจตลอดเส้นทางทั้ง 9 วัน เริ่มจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์พักพิงที่เลี่ยงไม่พ้นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ วัดชูจิตธรรมาราม วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ตัวอย่างของวัดที่ดี ที่เป็นที่พึ่งยามมีภัยพิบัติ เป็นพื้นที่ปลายน้ำที่พร้อมเผชิญเหตุรับมือกับภัยพิบัติ ได้เรียนรู้ธรรมชาติพยากรณ์ ให้สามารถ “สู้ อยู่ และ หนี” ณ ที่ บริษัท ริเวอร์โปร สระบุรี คนปลายน้ำที่มีจิตอาสาร่วมรณรงค์ลดการใช้สารเคมีและสร้างสรรค์ต้นแบบอุตสาหกรรมพอเพียง ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองโน ต.หนองโน จ.สระบุรี คณะเดินทางได้เยี่ยมชมคนกลางน้ำบนพื้นที่แหล่งเรียนรู้การจัดการน้ำ มีการแบ่งกลุ่มลงมือช่วยกันทำ โคก หนอง นา โมเดล ให้เป็นต้นแบบการจัดการวิกฤติน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งการช่วยกันปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ขุดหนองลอกคลอง ปั้นหัวคันนาสูง จะได้มีน้ำไว้ใช้ตลอดปี ซึ่งเรียกรวมว่าเป็นการสร้าง “หลุมขนมครก” ต้นแบบกักเก็บน้ำตามพระราชดำรัสในหลวง ร.9 ซึ่งที่นี่ ชาวบ้านให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างหลุมขนมครกให้ได้ 100 หลุม ภายใน 3 ปี เพื่อเก็บกักน้ำเมื่อยามแล้งและช่วยป้องกันน้ำท่วมยามน้ำหลาก และ ณ ที่ศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศร เหล่าทหารของชาติได้แสดงความพร้อมในเตรียมรับมือภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชนทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ได้มั่นใจ
นอกจากนั้น ขบวนรณรงค์ยังร่วมกับชาวจังหวัดสระบุรี โยนระเบิดจุลินทรีย์ก้อนลงแม่น้ำป่าสักเพื่อช่วยให้น้ำใสสะอาดขึ้น โดยมีกลุ่มนักสืบสายน้ำ เยาวชนในพื้นที่ ช่วยวิเคราะห์จุลินทรีย์ในน้ำ จากนั้นไปเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่บนที่ดินผืนแรกของพ่อ ที่วัดมงคลชัยพัฒนา ได้ช่วยกันแก้ปัญหาปลูกข้าวในพื้นที่แล้งแห้งน้ำ ต่อด้วยการดูการแก้ปัญหาการจัดการน้ำด้วยภูมิปัญญาแบบ “อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ” ที่อ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ปัจจุบันน้ำแห้งเห็นตะกอนดินกองอยู่กลางน้ำชัดเจน! ทำให้ขบวนรณรงค์ได้รับทราบปัญหาอันแท้จริงของสถานการณ์ภัยแล้งที่ลุ่มน้ำป่าสักกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ดังนั้น เมื่อถึงพื้นที่ต้นน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บริเวณบ้านโป่งเกตุ อ.มวกเหล็ก กำลังพลอาสาสมัครหลายร้อยคน จึงรวมพลังช่วยกันหาทางเก็บกักน้ำด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งสร้างฝายชะลอน้ำ ขุดเส้นทางน้ำเชื่อมหนอง คลอง บึง ด้วยคลองไส้ไก่ ปลูกป่าเปียก คือกล้วย สีเสียด ข่อย ให้ดินชุ่มน้ำก่อนระดมยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณไม้ยืนต้น ส่วนบ่อน้ำที่เคยขุดไว้แล้วแต่น้ำแห้งขอด ก็ทำการยาบ่อด้วยมูลวัวควายผสมน้ำเพื่อป้องกันน้ำซึมตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยหวังให้เด็ก ๆ โรงเรียนบ้านโป่งเกตุได้มีบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี และเป็นต้นน้ำที่ชุ่มชื้นให้คนปลายน้ำได้พึ่งพา
บนเส้นทางตามรอยพ่อในลุ่มน้ำป่าสักทั้ง 9 วันนี้ จึงให้ทั้งการเรียนรู้ การแบ่งปัน ให้ความอิ่มเอิบใจและความประทับใจกับทุกคนที่ได้เสียสละทุ่มเทแรงใจแรงกายเข้าร่วมในกิจกรรม โดยเฉพาะตัวแทนนักปั่นจักรยานวัย 65 ปี ลุงสุทธิชัย สุศันสนีย์ แม้วัยจะล่วงเกือบ 70 ปี แต่เรื่องความฟิตไม่แพ้หนุ่มรุ่นกระทงเลย เพราะลุงปั่นตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ลุงสุทธิชัยบอกว่าสาเหตุที่เข้าร่วมโครงการเพราะอยากทำอะไรเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 บ้าง “ตอนที่รู้ว่ามีโครงการตามรอยพ่อของแผ่นดินไปช่วยกันจัดการปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืนก็สมัครเข้ามาทันที เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอะไรเพื่อท่านบ้าง ท่านเหนื่อยมามากแล้ว ในฐานะที่เราเป็นลูกก็อยากแบ่งเบาภาระท่าน อีกอย่างโครงการนี้สอนให้เรารู้จักการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แถมยังปลูกจิตสำนึกให้หันมาปลูกป่าด้วย”
แม้การเดินทาง 9 วันจะจบลง แต่นี่นับเป็นก้าวแรกที่จะทำให้คนหันมาตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำที่ไม่ใช่เฉพาะเพียงลุ่มน้ำป่าสักอย่างจริงจังมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนหันมาร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ก่อนที่ไทยจะแล้ง และกรุงเทพฯ จะจมน้ำ....อีกครั้ง!!!