เชฟรอนจับมือสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงไขวิกฤตลุ่มน้ำ รณรงค์อนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักตามรอยศาสตร์พระราชา
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 1
ตะกอนดินอาจฟังดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับใครหลายคน แต่ความจริงแล้วปัญหาตะกอนดินนั้นเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยอย่างที่คนไทยประสบมาแล้วในปี 2554 จากข้อมูลของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง พบว่าปัญหาตะกอนดินนั้นเกิดการตัดไม้ทำลายป่ารวมถึงการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะเมื่อปราศจากต้นไม้และผืนป่าที่ปกคลุมหน้าดิน ช่วยยึดเกาะดิน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติไว้ใต้ดินแล้ว จึงเกิดเป็นตะกอนดินจำนวนมากที่ค่อย ๆ ไหลจากต้นน้ำ ลงมาสู่แหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ทั้ง หนอง คลอง บึงต่าง ๆ ไปจนถึงแหล่งกักเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างเขื่อน และเกิดการทับถมกันเรื่อยมา ทำให้การกักเก็บน้ำมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อถึงคราวน้ำมาก น้ำจึงไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ หรือที่ใคร ๆ รู้จักกันในนาม “อาจารย์ยักษ์” เปิดเผยว่า “ขณะนี้ลุ่มน้ำในประเทศไทยทั้ง 25 ลุ่ม โดยเฉพาะลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่ประมาณ10ล้านไร่ กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย ทั้งเผา ไถ ตัด จนเกิดเป็นเนินเขาหัวโล้น นอกจากนั้น ประชาชนในพื้นที่หลายหันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง สวนยาง ข้าวโพด ขาดพื้นที่ป่าผสมผสานที่จะช่วยยึดเกาะหน้าดิน เวลาฝนตกก็จะชะล้างเอาตะกอนดินทั้งหลายหลากมากับน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ สู่เขื่อน ทำให้หนองน้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขิน เขื่อนและอ่างเก็บน้ำก็อุ้มน้ำได้น้อย เมื่อน้ำที่เหลือทะลักลงมาก็ท่วมบ้านเรือนในที่สุด”
“อย่างไรก็ตาม ลุ่มน้ำที่ต้องพึงเฝ้าระวังมากที่สุดคือลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ร.9 มีสายพระเนตรอันกว้างไกล ได้ทรงตรัสเตือนไว้ว่าเป็นลุ่มน้ำที่บริหารจัดการยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างมากหลายเท่าของความจุอ่าง ใครที่อยู่ในลุ่มนี้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ โดยต้นน้ำมาจากจังหวัดเลย ไล่มาถึงน้ำหนาว เพชรบูรณ์ ลงมาถึงลพบุรี สระบุรี อยุธยา และกรุงเทพ ไปจนถึงสมุทรปราการ ซึ่งมีน้ำปริมาณมหาศาลกว่าห้าพันล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถรองรับน้ำได้แค่กว่า 900 ลูกบาศก์เมตร และปีนี้ป่าถูกทำลายเพิ่มขึ้น เขื่อนตื้น เก็บน้ำได้น้อยลง เมื่อฝนตกลงมาเท่าเดิม จึงไม่น่าแปลกใจถ้าน้ำต้องท่วมดังเดิม”
ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า “ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งน้ำเพี่อป้องกันภัยพิบัติอย่างยั่งยืน แม้ยามทรงพระประชวรพระองค์ยังทุ่มเททรงงาน และทรงตรัสว่า ‘ถ้าออกจากโรงพยาบาลเมื่อไหร่ ก็คงจะช่วยได้มากกว่านี้’ จากพระราชดำรัสสั้น ๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยความห่วงใยที่ “พ่อของแผ่นดิน” ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์เสมอมา กลายเป็นแรงบันดาลใจอันแน่วแน่ที่จะสร้างพลังคนให้ร่วมกันเดินตามรอยศาสตร์ที่พระองค์ได้ทรงชี้แนะแนวทาง ซึ่งแท้ที่จริงทั้งหมดนี้เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ของพวกเราเอง”
“ตอนนี้เราต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไปช่วยชาวบ้านในการทำพื้นที่สำหรับอุ้มน้ำเพื่อไม่ให้น้ำลงมากรุงเทพฯ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงเราทำโมเดลต้นแบบให้ดู ที่เราเรียกว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นแบบที่ใช้ได้ผลจริง คือเราขุดหนองไว้เก็บน้ำใช้ ไว้ทำการเกษตร เราเอาดินจากการขุดหนองไปทำโคก เอาบ้านไปอยู่บนโคกที่เป็นที่สูงปลูกป่าปลูกต้นไม้ไว้บนโคก ไว้กินไว้ใช้ เหลือก็เก็บขาย และยกหัวคันนาให้สูง เมื่อตะกอนลงมาจะได้ถูกเก็บไว้ในฝายคันนา เมื่อฝนตกลงมาเราอุ้มน้ำได้ 100 เปอร์เซนต์ ไม่ปล่อยให้ไปท่วมใคร อุ้มน้ำฝนไว้ได้หมด เราทำ โมเดลนี้ได้ขยายฝึกอบรมชาวบ้านมา 16 ปีแล้ว ตามที่ในหลวงท่านตรัสไว้วิธีนี้จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนที่สุด”
ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มลุ่มน้ำหลักทั้ง 9 กลุ่ม ได้แก่: (1.) กลุ่มลุ่มน้ำแม่โขงจำนวน 5 ลุ่ม; (2.) ลุ่มน้ำสาละวิน; (3.) กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน 8 ลุ่มหลัก; (4.) ลุ่มน้ำแม่กลอง; (5.) กลุ่มลุ่มน้ำบางปะกงจำนวน 2 ลุ่ม; (6.) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก; (7.) กลุ่มลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตะวันตก 7 ลุ่มหลัก; (8.) กลุ่มลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกจำนวน 8 ลุ่ม; และ (9.) ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยแต่ละลุ่มน้ำหลักจะประกอบไปด้วยลุ่มน้ำสาขาอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็นลุ่มน้ำหลักจำนวน 25 ลุ่ม และลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด 254 สาขา
เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ลุ่มน้ำจากปลายแหล่งน้ำที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงต้นน้ำบริเวณเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงริเริ่มโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โดยได้ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมการเรียนรู้และร่วมลงมือทำไปพร้อมกับชุมชนต้นแบบ นับเป็นการจุดประกายแรงบันดาลใจให้คนไทยทุกคนหันมาฟื้นฟูและบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามศาสตร์ของพระราชา
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการฯ นี้มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญกับการอนุรักษ์ลุ่มน้ำ ซึ่งนำเอาลุ่มน้ำป่าสักมาเป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงเป็นกังวลมากที่สุด เชฟรอนประเทศไทยอยากเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้ เพื่อร่วมกันหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความ ‘พอเพียง ที่เพียงพอ’ ให้เติบโตในใจของสังคมไทย โดยกิจกรรมในโครงการจะมีระยะเวลาการเดินทาง 9 วัน ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยรูปแบบไหนก็ได้ จะเดิน วิ่ง ขี่จักรยาน หรือขับรถ ใครถนัดแบบไหนก็สามารถมาผนึกพลังกับขบวนได้ อีกทั้งไม่มีข้อบังคับในเรื่องของจำนวนวันที่ต้องมา กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม หรือการค้างคืน เรียกว่าแล้วแต่ความสะดวก และความสมัครใจของแต่ละท่านเองทั้งสิ้น ผมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาหารจัดการน้ำ การป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนควรหันมาร่วมมือกัน เพื่อสร้างความยั่งยืน”
ทั้งนี้ขบวนจะผ่านชุมชนต้นแบบที่มีการนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้จนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้จากตัวอย่างชุมชน และภาคธุรกิจที่ทำงานร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต่างได้น้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 มาปฏิบัติจนสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว โดยกิจกรรมตลอดการเดินทางที่ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสล้วนมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความ “พอเพียง” ตามแนวพระราชดำริ อาทิ การเรียนรู้ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” การทำความเข้าใจต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมไปถึงกิจกรรมชมโมเดลการจัดการน้ำและตะกอนของเขื่อน ด้วยภูมิปัญญาแบบ “อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ” อีกทั้งบทเรียนต่าง ๆ ที่นำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อป้องกันภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างหลุมขนมครกต้นแบบกักเก็บน้ำ การขุดเส้นทางน้ำเชื่อมหนอง คลอง บึง และการปลูกป่าชุมชนทำฝายชะลอน้ำ
คนบันเทิงมากมาย ได้แก่ “แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์” “บอย พิษณุ นิ่มสกุล” “อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์” และ “ก้อง ทรงกลด” ยังพร้อมรวมพลังเป็น “อาสาสมัครภาคประชาชน” เพื่อเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” ด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และการพัฒนา “คน” ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วยกัน สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking