สาวไอที ตั้งปณิธานเดินตามศาสตร์พระราชา ความสุขบนวิถีแห่งความพอเพียง
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 4
วันนี้... อาจมีใครหลายคนตั้งปณิธานจะขอสานต่อทำความดีตามรอยคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ “พ่อของแผ่นดิน” แต่สำหรับพนักงานออฟฟิศในเมืองกรุงคนหนึ่ง เธอได้พาครอบครัวดำเนินเดินตามรอยพ่อมาแล้วถึง 3 ปี หลังจากที่ได้เรียนรู้และค้นพบความจริงจากคำพ่อสอน จากการเข้าร่วมโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โครงการที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่าน มาช่วยฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก โดยสอนให้ชุมชนเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ ดิน น้ำ ป่า และคน ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเธอได้พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่า การทำตามคำสอน “พ่อ” ทำให้เธอและครอบครัวพบกับความสุขที่แท้จริงบนวิถีความพอเพียง
สุรีรัตน์ นิตยะกุล พนักงานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และนอกเวลางานเธอยังเป็นเจ้าของ “อันนาฟาร์ม” ทุ่งข้าวไรซ์เบอรี่ 17 ไร่ ในหมู่บ้านทุ่งข้าวหอม ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เธอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเดินตามรอยศาสตร์พระราชาว่า “จากพื้นฐานที่ตัวเองและสามีเป็นคนรักธรรมชาติ และเรียนด้านภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ต้องออกภาคสนามเป็นประจำ เพื่อสำรวจป่า ภูเขา ลำน้ำ ประชากร ได้พบเห็นชีวิตเกษตรกร เห็นไร่ฝิ่นที่ในหลวงช่วยให้ชาวเขาเลิกปลูกได้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีโอกาสเห็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า ที่ประทับเฮลิคอปเตอร์มาทรงงาน พอเข้ามาทำงานที่บริษัทเชฟรอนฯ ก็ได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสา ของบริษัทฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งเชฟรอน ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสู่การปฏิบัติมาสอนให้ชาวบ้าน ให้ชุมชน ซึ่งบริษัทฯ สนับสนุนให้พนักงานและครอบครัวได้มาเรียนรู้และลงมือทำด้วย จึงพาสามีและลูกสาวเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ปีแรก นอกจากนั้น ทางบริษัทฯ ยังเปิดโอกาสให้พนักงานที่สนใจเข้าอบรมเพิ่มเติมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง นับว่าเป็นโอกาสทองที่ได้ทำตามความฝันที่อยากมีพื้นที่ทำการเกษตรและยังได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมด้วย ที่สำคัญเป็นการปลูกฝังลูกสาวให้ได้เห็นและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและคนอื่น”
หลังจากอบรม สุรีรัตน์ได้นำความรู้ตามหลักการทำเกษตรกรรมตามทฤษฏีศาสตร์พระราชาและหลักกสิกรรมธรรมชาติ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง “เรานำทฤษฎีการแบ่งการใช้สอยที่ดินเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ 17 ไร่ของเรา โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ขุดหนองเก็บน้ำ 30 % ทำนา 30 % ปลูกพืชผล 30% อีก 10% เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งเราปรับหนองน้ำเป็นคลองตรงกลาง กว้าง 3 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 200 เมตร ดินที่ขุดขึ้นมาถมเป็นโคกในส่วนพื้นที่บ้านและสวนให้สูงกว่าพื้นที่รับน้ำ 1.60 เมตร เพื่อให้พ้นน้ำกรณีน้ำหลาก และกักเก็บน้ำไว้ใช้เองในการเพาะปลูก พึ่งพาตนเองได้ในยามแล้ง แบ่งที่นาเป็น 2 ด้านซ้ายขวา ที่ส่วนท้ายปลายนาขุดเป็นร่องสวนและทำคลองรับน้ำ ตั้งใจปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งพืชผักและไม้ยืนต้นที่สามารถเก็บผลกินได้ ทดลองปลูก มะม่วง ทุเรียน ไม้พื้นเมืองต่าง ๆ ที่ใช้ทำยา โดยขอกล้าจากกรมป่าไม้ คาดว่าจะค่อย ๆ โตขึ้นตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ”
จากการเดินหน้าลงมือทำ สุรีรัตน์ก็ได้พบกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและความสุขใจจาการได้แบ่งปัน ที่เกิดขึ้นด้วยคำสอนของพ่อหลวง “เราเริ่มต้นปลูกข้าวไรซ์เบอรี่เหมือนชาวนาแปลงอื่น ๆ รอบข้าง เพราะเป็นช่วงที่มีการสนับสนุนให้ปลูก แต่ที่เราทำแตกต่างจากเขา คือ ไม่ใช้สารเคมีในแปลงนาของเราเลย เราใช้การไถกลบฟางข้าว ทำน้ำหมักใช้เอง ใส่ปุ๋ยคอก ให้ธรรมชาติดูแลระบบนิเวศเอง สภาพแวดล้อมของนาเราจึงแตกต่างจากที่อื่น เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติจริง ๆ เช่น มีผักพื้นบ้านอย่างผักปลัง ผักบุ้งเกิดขึ้นเอง ซึ่งผักปลังที่นาของคนอื่นไม่มีขึ้นเลย เราก็ให้ชาวบ้านมาเก็บไปขายมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่วนหอยเชอรี่เราก็ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหอย เพราะจะมีนกมาจิกกินหอย ซึ่งก็มาเฉพาะที่นาของเรา ในร่องสวนในคลองก็มีปลาช่อน และลูกครอกเยอะมาก เพราะน้ำที่เราดึงมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เราจะพักน้ำไว้ ใส่น้ำหมักใส่ผักตบชวาเพื่อซึมซับสารพิษก่อน และยังมีนกตัวเล็กมาจิกเก็บกินเมล็ดข้าวที่ตกหล่นอยู่ตามคันนา ที่นาเราก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องข้าวใด ๆ”
ด้วยใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการพออยู่ พอกิน พอแบ่งปัน และพึ่งพาตนเอง สุรีรัตน์เล่าว่า “ปีนี้ เราปลูกข้าวน้อยลง เพราะค่อย ๆ เริ่มทำด้วยตัวเองตามกำลังที่มีจากเดิมที่เราเคยจ้างชาวบ้าน ก็มีคนมาขอรับซื้อไปขายเพราะข้าวนิ่มและรสชาติดี ส่วนชาวบ้านก็หันกลับไปปลูกข้าวเหนียวโดยใช้เคมีและปลูกปีละ 3 รอบ หน้าแล้งน้ำก็ไม่พอใช้ เราจึงเป็นเจ้าเดียวในหมู่บ้านที่ยังปลูกไรซ์เบอรี่ และไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้เลย ดินก็ชุ่มชื้น ส่วนข้าวเราก็ขายเฉพาะที่ไร่และคนที่รู้จัก ก็ถือว่าพอเพียงกับสิ่งที่เราทำแล้ว สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เราต้องค่อย ๆ ทำ ทำตามกำลังความถนัด ทำจนให้ชาวบ้านเห็นผลดีและเขาเอาด้วย ซึ่งเราวางแผนไว้ว่า จะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ทำเป็นเลนจักรยาน ให้คนปั่นเข้ามาชมทุ่งข้าว ชมสวนของเราได้ แล้วจะเอาผลิตผล ข้าว พืชผักปลอดสารพิษ มาขายที่หน้าบ้านเราเอง ถ้าชาวบ้านเริ่มเห็นด้วย หันมาปลูกข้าวปลูกผักปลอดสารก็จะให้เขาเอามาขายด้วย ถึงตอนนั้นก็น่าจะกลายเป็นกลุ่มพลังที่ใหญ่ขึ้น”
ผลลัพธ์ที่ได้จากการเดินตามรอยพ่อ ไม่ใช่เพียงผลผลิตในแปลงข้าวเท่านั้น “เราสามารถปลูกฝังและสอนลูกสาววัย 13 ปีของเรา ที่ถือว่าเกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ได้ แม้เขาไม่มีโอกาสเห็นพระราชกรณียกิจแบบที่เราเคยเห็นมาก่อน แต่เราเอาเขามาร่วมกิจกรรมตามรอยพ่อของแผ่นดินด้วย ให้เขาได้ลงมือทำเอง ว่าปลูกข้าวทำสวนต้องทำยังไง จริงอยู่ว่าอาจดูลำบากสำหรับเด็กในเมือง แต่ความลำบากไม่ใช่ความทุกข์ ก็ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก จากเด็กที่มีแต่เทคโนโลยีรอบตัว ก็กลายเป็นเด็กที่รักธรรมชาติ ส่วนพี่ ๆ น้อง ๆ พนักงานเชฟรอนหลายคนก็สนใจมาปรึกษา อยากลงมือแบบเราด้วย เขาเชื่อมั่นในตัวเราที่เห็นเราทำสิ่งเหล่านี้”
ความสุขบนเส้นทางของความพอเพียงที่เกิดจากการเดินตามคำพ่อสอน “ณ วันนี้ ถือว่ามีความสุขมากจริง ๆ ที่ได้เดินตามรอยพ่อ แม้ไม่มีโอกาสเป็นข้าราชการรับใช้พระองค์ ถือว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะได้ทำดีตอบแทนพระองค์ ทุกอย่างที่ลงมือทำไม่เสียแรงเปล่า เริ่มปรากฎเห็นผลชัดเจนมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าในภายภาคหน้าจะเด่นชัดมากยิ่งกว่านี้ ภาคภูมิใจที่ได้ดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน แล้วตอนนี้เราถือว่าเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว ทางข้างหน้าก็คงไม่ยากอะไรแล้ว เมื่อเทียบกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน พ่อเหนื่อยกว่าเราเยอะมาก นี่เพียงเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวทฤษฎีเดียวเท่านั้น เราจะทำไม่ได้เหรอ เรามีโอกาสเดียวที่จะได้ทำ จึงขอยืนยันที่จะมุ่งมั่นสานต่อตามรอยคำสอนของพ่อตลอดไป”
สุรีรัตน์ จะนำข้าวไรซ์เบอรี่จากที่นาทุ่งข้าวหอมเชียงใหม่ เข้าร่วมจำหน่ายในงานสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพ่อของแผ่นดิน ของโครงการฯ ปี 4 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการเดินตามรอยพ่อหลวงให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ ด้วยหวังจะเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้คนกล้าที่จะก้าวเดินตามรอยศาสตร์พระราชา