พิมพรรณ สะมะแอ: สุขด้วยชีวิตที่ “พอ” ตามรอย “พ่อ” ด้วยศาสตร์พระราชา

พิมพรรณ สะมะแอ: สุขด้วยชีวิตที่ “พอ” ตามรอย “พ่อ” ด้วยศาสตร์พระราชา

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 4

นา-พิมพรรณ สะมะแอ วัย 57 ปี เลือกใช้ชีวิตหลังเกษียนอายุการทำงานจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เมื่อปลายปี 2558 มาอยู่กลางทุ่งนาบนที่ดิน 5 ไร่ ในตำบลมงคลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ที่ซื้อทิ้งไว้เมื่อ 13 ปีก่อน พร้อมมุ่งมั่นเป็นหนึ่งในผู้ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ “ศาสตร์พระราชา” ให้เกษตรกรบ้านทองครึมทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ และเป็นกำลังสำคัญช่วยชาวนาบ้านทองครึมขายผลผลิต “ข้าวไรซ์เบอรี่” (ปลอดสาร) ตรงสู่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ มาเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ชาวนาขายเองไม่ง้อโรงสีแบบเวลานี้

“พื้นเพอยู่นราธิวาสค่ะ เดิมก็ไม่ได้คิดว่าจะทำนาทำไร่หรือเป็นเกษตรกร เพราะเป็นพนักงานบริษัทมาทั้งชีวิต ซื้อที่ผืนนี้แรก ๆ ก็ปลูกต้นไม้ในที่ดินไปเรื่อย ๆ เพราะชอบต้นไม้ ไม่ได้มีหลักการอะไร จะกลับมาดูเดือนละหน จน 5 ปีหลังได้เตรียมตัวเกษียณ สร้างบ้านและปลูกไม้ผล มะม่วง มะพร้าว แต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องด้านเกษตร” 

จุดเปลี่ยนของเธอเริ่มต้นในปี 2556  เมื่อบริษัทเชฟรอน ร่วมกับ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” วัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืนด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการจัดกิจกรรมรณรงค์ พร้อมลงมือปฏิบัติจริงในการขุด “หลุมขนมครก” ในหลายพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามแนวคิด “โคก หนอง นา” โมเดล ที่ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ ในฐานะพนักงานเชฟรอน ทำให้เธอได้ร่วมกิจกรรมและเรียนรู้การบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า นอกจากนี้ยังร่วมกิจกรรม “ศุกร์อาสา” (We Volunteer) ของบริษัทฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานเป็นจิตอาสาในกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ โดยกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมในครั้งนั้น เป็นการขยายผลจากโครงการตามรอยพ่อของแผ่นดินฯ โดยลงแขกทำนาในพื้นที่ของเกษตรกรในเครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จ.สระบุรี ทำให้ มีโอกาส “ปลูกข้าว” เป็นครั้งแรก การได้ลงมือทำ “จุดประกาย” ให้อยากปลูกข้าวในที่ดินของตัวเองบ้าง จึงไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ. ชลบุรี  ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง ทั้งการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงการทำปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ และการทำชีวภัณฑ์ต่าง ๆ และที่สำคัญ คือ การคิดอย่างเป็นระบบในการลงมือทำเกษตรกรรม

“พอได้ความรู้จากกิจกรรมโครงการฯ และการอบรม จึงลงมือทำเลยในปี 2556 โดยทดลองปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ 1 ไร่  ที่ปลูกข้าวพันธุ์นี้ เพราะหายจากอาการเหน็บชาด้วยการทานข้าวนี้มานานกว่า 15 ปี จึงปลูกในสิ่งที่ตัวเองกินได้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือรอบบ้านก็ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ทั้งกล้วย แตงโม ถั่วฝักยาว ดอกขจร กระเพรา ฟักทอง มัลเบอรี่ มะนาว โดยไม่ใช้สารเคมี ตอนที่เริ่มปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ คนยังปลูกไม่มาก เพราะข้าวทั่วไปใช้เวลาปลูก 100 วันแต่ไรซ์เบอรีใช้เวลา 142 วัน ปีแรกนา 1 ไร่เก็บผลผลิตได้แค่ 600 กก. สีแล้วเหลือ 250 กก. เก็บไว้กินเองแล้วก็แจกเพื่อน ๆ แจกชาวบ้านแถบนี้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือปลูกได้เก็บไว้กิน ถ้าเหลือต้องแบ่งปันก่อน”

พื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ของพิมพรรณ ถือว่าเป็นนาข้าวไรซ์เบอรี่แปลงแรก ๆ ของชุมชน เพราะแม้เกษตรตำบล จะเคยแนะนำให้ชาวนาแถบนี้ปลูก แต่กลับไม่มีใครสนใจเพราะใช้เวลานานกว่าพันธุ์ข้าวเดิม ๆ แต่เมื่อข้าวไรซ์เบอรี่ออกรวง ชาวบ้านต่างพากันมาดูรวงข้าวดำ ทำให้ได้พูดคุยและให้คำแนะนำกับชาวบ้าน จนเขาเริ่มสนใจอยากปลูกบ้าง ตอนนั้นข้าวไรซ์เบอรี่เป็นที่ต้องการของตลาดและได้ราคาดี จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มชาวนาเพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอรี 

“เราก็ตั้งเป็นกลุ่มชาวนาบ้านทองครึม อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง โดยพี่มีตำแหน่งเป็นเหรัญญิก และช่วยชาวบ้านเขียนโครงการขอทุนจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อทำนาข้าวไรซ์เบอรี่แบบเกษตร อินทรีย์ ตอนนี้เรามีพื้นที่นารวมกันทั้งชุมชน 40 ไร่ ผลผลิตปีนี้ได้ข้าวไรซ์เบอรี่ที่สีแล้ว 8 ตัน พอดีเรามีโรงสีชุมชนอยู่แล้ว ปลูกแล้วก็สีที่นี่ไม่ต้องไปจ้างใคร ลงทุนเพิ่มนิดหน่อยด้วยการซื้อเครื่องบรรจุแบบสูญญากาศบรรจุแล้วขายได้เลย”

เพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริ จึงตัดสินใจรับซื้อผลผลิตข้าวไรซ์เบอรี่จากชาวบ้านเพื่อมาทำการตลาดให้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น ข้าวไรซ์เบอรี่บ้านทองครึมจึงกลายเป็นสินค้าปากต่อปาก จากเพื่อน ๆ ค่อย ๆ ขยายตลาดไปถึงนราธิวาสบ้านเกิด และตอนนี้ไปถึงมาเลเซียที่เธอมีเพื่อนอยู่ ทำให้ชาวนาที่บ้านทองครึมมีรายได้ที่ค่อนข้างดี และไม่เคยได้รับผลกระทบกับปัญหาราคาพืช ผลการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเธอเองจะนำผลผลิตไปร่วมออกร้านในงาน “สืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ของโครงการฯ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ด้วย 

ชีวิตตอนนี้เธอบอกว่ามีความสุข บ้านของเธอกลายเป็นแหล่งชุมนุมเล็ก ๆ ที่มีผู้คนแวะเวียนมาพูดคุยปรึกษาหารือ บางวันก็จะมีเด็ก ๆ รวมกลุ่มมาให้เธอสอนภาษาอังกฤษ ความสนิทสนมคุ้นเคย การดูแลกันและกัน ทำให้เธอยิ่งรักชุมชนแห่งนี้ 

“การอยู่ที่นี่มีความสุข เพราะเป็นวิถีที่เรียบง่ายและตอบโจทย์ที่ตัวเองค้างคาใจมานาน ที่มีคนเคยแนะนำว่าต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 10-20 ล้าน เพื่อดูแลตัวเองหลังเกษียณ ตอนนั้นฟังแล้วคิดว่ามันไม่ใช่คำตอบสำหรับตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร แต่ตอนนี้รู้แล้ว มันคือชีวิตแบบตอนนี้ แบบ “พอเพียง” ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนไว้ เมื่อรู้จัก ‘พอ’ ชีวิตก็มีความสุข และยังสามารถทำประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ๆ ด้วย”

เธอยังตั้งใจส่งต่อองค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและการใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนในชุมชน เพราะเชื่อว่าการส่งผ่านความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้ชาวบ้านได้คิดและลองปฏิบัติ จะทำให้ชาวชุมชนบ้านทองครึมมีชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ และนั่นคือวิถีที่ยั่งยืนตามเป้าหมายศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9