เอามื้อสามัคคี จ.จันทบุรี ส่งต่อองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ ปลอดภัยทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 6
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ที่บ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าไทยเมืองจันท์ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค พร้อมถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จ “คนต้นแบบ” สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น
“เอามื้อสามัคคี” หรือการลงแขกช่วยเหลือกันพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เป็นกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 โดยในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 โครงการฯ ได้ชักชวนให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ร่วมกันขุดหลุมขนมครกเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงานกล่าวว่า “จากการดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมว่า คนที่นำแนวทางศาสตร์พระราชาไปปฏิบัตินั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง ตามที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำว่า ความยั่งยืน คือ ความเหมาะสม โดยเริ่มจากการพัฒนาคน นอกจากนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคียังสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ ในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยสนับสนุนเกษตรกรให้พัฒนาตนเอง ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิมไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบอื่น ๆ”
ในปีนี้เป็นปีสุดท้ายของระยะที่ 2 ของแผนหลัก 9 ปีของโครงการฯ ซึ่งจะเน้น “การแตกตัว” หรือการขยายผลในระดับทวีคูณเพื่อสร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชน กล่าวว่า “เราใช้แนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ คือการนำสิ่งที่เรียนรู้และความสำเร็จในการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนใน 4 พื้นที่ 3 ลุ่มน้ำที่มีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างต้นแบบที่หลากหลาย และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยจะนำความสำเร็จนี้ไปเผยแพร่เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจสู่ของชุมชนอื่นทั่วประเทศต่อไป ซึ่งความมุ่งหวังของโครงการฯ คือต้องการที่จะทำให้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นหนทางหลักของเกษตรกรไทย”
สำหรับการเลือกพื้นที่เป้าหมายในการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งที่ 2 นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายภาควิชาการกล่าวว่า “โครงการฯ ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงห่วงใยประชาชนในจันทบุรีซึ่งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ปัญหาภัยแล้งจึงเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ รวมทั้งยังมีการใช้สารเคมีในการเกษตรค่อนข้างมาก กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้ จึงเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ปลูกและผู้บริโภค รวมถึงขยายผลโดยใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking รับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างหลุมขนมครก และมีผู้สนใจกว่า 600 คนที่จะมาช่วยกันสร้างหลุมขนมครกเพื่อเก็บกักน้ำในหน้าแล้ง”
นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษา รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.จันทบุรี ประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จ.จันทบุรี กล่าวเสริมว่า “ตอนที่อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) เมื่อปี 2544-2545 เริ่มทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ได้เลือก จ.จันทบุรี เป็นเป้าหมายแรกเพราะเชื่อว่าคนจันท์กล้าคิด กล้าทำ กล้าลงทุน ถ้าที่นี่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ คนที่อื่นๆ จะทำตาม และเปลี่ยนได้ทั้งประเทศ อาจารย์ยักษ์และทีมงานจึงลงไปพื้นที่ ทั้งอบรมและลงมือทำต่อเนื่อง จนรัฐบาลในยุคนั้นประกาศให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ”
แต่ในวันนี้เมื่อเกษตรอินทรีย์แตกตัวไปทั่วประเทศ การทำพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจ.จันทบุรี กลับมีเกษตรกรเพียงประมาณ 30 กว่ารายและมีพื้นที่แค่ 1,300 กว่าไร่เท่านั้น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee System) หรือ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม คือเกษตรกรด้วยกันเองเป็นผู้ร่วมตรวจสอบ และเป็นการรับรองมาตรฐานของไทย โดยอิงระบบการรับรองตามมาตรฐาน IFOAM : International Federation of Organic Agriculture Movements ซึ่งมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
การสร้างกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของเกษตรกร จึงมีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเกษตรกรส่วนมากถึง 99.99% ยังคงใช้สารเคมีเป็นหลัก ในปีนี้ กลุ่ม PGS จ.จันทบุรี จึงกำหนดยุทธศาสตร์ ‘อินทรีย์ผงาด’ เฉพาะ จ.จันทบุรี โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 10,000 ไร่ในปีแรก และจะเพิ่มเป็น 10 เท่าในปีถัดไปทุกปี โดยมีทีมงานที่บ่มเพาะมาพร้อมทำงาน และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และอีกหลายสถาบัน มาร่วมขับเคลื่อนงานในส่วนนี้ด้วย
ด้านเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย นางแววศิริ ฤทธิโยธี แห่งบ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าไทยเมืองจันท์ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เล่าว่า “บ้านสวนอิสรีย์ฯ มีสวนยางประมาณ 120 ไร่ และสวนผลไม้ 80 ไร่ ปลูกเงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง พริกไทย และอื่น ๆ ผสมผสานกัน ที่บ้านเราอยู่กับสวนมาตลอด พ่อสอนไม่ให้เบียดเบียนธรรมชาติ ตอนแรกทำสวนมะละกอซึ่งใช้สารเคมีมาก แต่เราห่วงเรื่องสุขภาพของตัวเองและคนงานจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้ไม่ใช้เคมีเลยมา 3 ปีกว่าแล้ว เราขุดบ่อ 7 บ่อรวมทั้งบ่อบาดาล ให้มีน้ำใช้ตลอด เมื่อปี 2560 ก็ได้ไปอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จึงหมักปุ๋ยเองจากความรู้ที่ไปอบรมมา และเราเองก็เป็นหนึ่งในเกษตกร 30 กว่ารายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูงานสม่ำเสมอ”
โดยหลังจากนี้ โครงการฯ จะเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยส่งเสริมให้ประชาชนลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริฯ อีก 2 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนกสิกรรมวิถี ณ หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ในพื้นที่ของบอย-พิษณุ นิ่มสกุล ที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2561 และพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2561 นำโดยบัณฑิต ฉิมชาติหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และสุดาพร พรหมรักษา เจ้าของพื้นที่บ้านน้ำปี้ ต.น้ำมวก อ.เวียงสา จ.น่าน