โครงการ "ตามรอยพ่อฯ" ปี 7 จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบ ที่ จ.เลย ชู ‘วนเกษตร’ ฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก ตามรอยศาสตร์พระราชา
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 7
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 โดยสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบ ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม ที่ จ.เลย ต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก โดยนำการทำวนเกษตร หรือ การเกษตรในพื้นที่ป่า เน้นการสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยตลอด 4 วัน มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม.จากศาลากลาง จ.เลย สู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง กิจกรรมเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง และกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ป่าต้นน้ำป่าสัก เพื่อสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทยทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “6 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ สามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและเกิดการขยายผลออกไปอย่างกว้างขวาง สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในปีที่ 7 นี้ เราได้มาที่จ.เลย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักและเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงในปี 2551 ลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็นหนึ่งใน25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศที่มีการดำเนินโครงการฯ มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก แก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างหลุมขนมครกกักเก็บน้ำบนพื้นที่สูง ปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น, ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติ เพื่อหยุดท่วมหยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ สู่การหยุดท่วมหยุดแล้งอย่างยั่งยืน ซึ่งจะลดการสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติ ด้วยการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมตามหลักภูมิสังคม ให้ทุกบ้านสามารถกักเก็บน้ำได้ รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ ช่วยบรรเทากระแสน้ำที่ไหลหลากลงท่วมพื้นที่ด้านล่าง
การจัดกิจกรรมรณรงค์ที่จ.เลยในครั้งนี้ มีเป้าหมาย คือ การขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา อันเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในการแก้ปัญหา ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงริเริ่ม และทรงได้รับการถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม จากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ต่อมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น ‘วันดินโลก’ ซึ่งในปีนี้เป็นการรณรงค์เรื่องการ ‘ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน’ (Stop Soil Erosion, Save Our Future)
นอกจากนี้ศาสตร์พระราชายังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ อาทิ การขจัดความยากจน ด้วยการสอนให้คนรู้จักการพึ่งพาตนเอง เพิ่มรายได้จากการทำเกษตรพอเพียง ลดภาระค่าใช้จ่ายจากแหล่งอาหารภายในบ้าน ขจัดความหิวโหยและสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมี และเพิ่มความหลากหลายด้วยการทำเกษตรผสมผสาน ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน
ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมรณรงค์ที่ จ.เลย ว่า ป่าต้นน้ำใน จ.เลยมีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นน้ำป่าสักซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่มีความลาดชันสูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้โดยง่าย จึงเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใย อันเป็นที่มาของโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ในปี 2556
“ในความเป็นจริงประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ขาดแคลนทรัพยากร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ดินดีอุดมสมบูรณ์ แต่ประชาชนขาดองค์ความรู้และการจัดการที่ดี โครงการฯ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชาให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก ช่วง 3 ปีที่เหลือนี้ เป็นเฟสสุดท้ายของโครงการฯ เป็นช่วงที่ต้องเร่งเครื่อง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งองคาพยพ เกิดรูปธรรมของความสำเร็จอย่างแท้จริง และระหว่างทางของการลงมือทำ หากเกิดปัญหาขึ้นก็ค่อยแก้ ทำไปแก้ไป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ จากนั้นค่อยต่อยอดเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายที่เข้มแข็งทุกภาคส่วน ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เกษตรอินทรีย์จะไม่ใช่เกษตรทางเลือก แต่จะเป็นเกษตรทางหลักที่เกษตรกรจะต้องหันมาลงมือทำ
นอกจากนี้ เชฟรอนยังสนับสนุนโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ ที่มุ่งเน้นอบรมและจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี นับตั้งแต่ปี 2557 และจะทำอย่างต่อเนื่องจนถึง ปี 2563 รวม 7 ปี โดยมุ่งหวังให้แนวทางนี้กลายเป็นกระแสหลักที่คนไทยต้องหันมาลงมือทำ เชฟรอนยังคงต้องร่วมกันทำงานกับพันธมิตรเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยายตัว แตกตัวไปให้ครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศในเร็ววัน” นายอาทิตย์กล่าว
ในปีที่ 7 นี้ โครงการฯ กลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ ที่ลุ่มน้ำป่าสัก จ.เลย ด้วยแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี’ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างเต็มรูปแบบ 3 กิจกรรมระหว่าง 1-4 สิงหาคม โดยวันแรกเป็นการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม.จากศาลากลาง จ.เลย มุ่งหน้าสู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง โดยระหว่างทางได้แวะพักทำกิจกรรมในพื้นที่ของเครือข่ายคนมีใจ 3 จุด ได้แก่ ภูนา บ้านรักตะวัน อ.เมือง ของนายปริพนธ์ วัฒนขำ บ้านฟากนา ฟาร์มสเตย์ อ.เมือง ของนางสุกัญญา บำรุง และสวนรุ่งทิพย์เกษตรอินทรีย์ อ.วังสะพุง ของนางรุ่งทิพย์ ธันขา
กิจกรรมที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม คือ การเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง ได้แก่ การดำนา ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าไม้และสมุนไพร และที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง จ.เลย ของนายแสวง ดาปะ มีกิจกรรมขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ‘แดงเมืองเลย’
และกิจกรรมส่วนสุดท้ายในวันที่ 3 สิงหาคม เป็นกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ต้นน้ำป่าสัก ที่บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่งตั้งใจของชาวบ้านหินสอในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักจนกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง และยังเป็นการกระตุ้นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัว เพื่อร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก โดยใช้ศักยภาพที่แต่ละคนมีอย่างเต็มที่อีกด้วย
ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวถึงความพร้อมและความตื่นตัวของชาว จ.เลย ว่า “ลักษณะภูมิประเทศของ จ.เลย ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำเลย ลำน้ำพุง ลำน้ำพอง แม่น้ำเหือง รวมถึงแม่น้ำป่าสัก ความที่เป็นคนต้นน้ำจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นที่นี่ย่อมส่งผลกระทบไปสู่คนปลายน้ำได้อย่างไม่ต้องสงสัย จ.เลยได้มีการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะทำให้ จ.เลย มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มขึ้น และยังสามารถคืนผืนป่ากลับมาได้จำนวนหนึ่งอีกด้วย
กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือของหลายหน่วยงานใน จ.เลย อาทิ สำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.เลย อ.ภูหลวง อบต.เลยวังไสย์ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย. 9 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกันตรวจสอบเพื่อจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดินของนายแสวง ดาปะ บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ระหว่างป่าภูหลวง และป่าภูหอ ที่กรมป่าไม้ได้มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดูแล
นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คือ สานพลังสามัคคี พัฒนามนุษย์ และฟื้นฟูลุ่มน้ำ ด้วยการวิจัยและทบทวนการขับเคลื่อนที่ผ่านมาเพื่อถอดเป็นบทเรียนรู้สำหรับการกำหนดทิศทางในอนาคต สร้างความแข็งแรงของเครือข่าย ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างเป็นระบบมีทิศทาง จัดการประชุมเพื่อรวมพลังเกี่ยวร้อยทุกเครือข่ายและคนมีใจไว้ด้วยเป้าหมายเดียวกัน และนำปัญหาที่เครือข่ายพบเจอมาระดมสมองเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นขบวน หนุนเสริมให้กำลังใจ จนเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูลุ่มน้ำ”
“ทั้งนี้ พื้นที่ต้นน้ำป่าสักนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นการทำวนเกษตร ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่าง ๆ ให้เป็นองค์ประกอบหลักของไร่นาผสมผสานกับการปลูกพืชชั้นล่างที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก หรือได้อาศัยร่มเงาและความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม รวมทั้งการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้มีความหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์ ที่ จ.เลย เป็นการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยปลูกแทรกระหว่างไม้ยืนต้นต่าง ๆ กิจกรรมเอามื้อใน 2 พื้นที่นี้ เน้นสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อสร้างแหล่งน้ำ ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าไม้และสมุนไพร ขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่เกือบจะสูญพันธุ์แดงเมืองเลย”
นายแสวง ดาปะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เจ้าของพื้นที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย ให้ข้อมูลพื้นที่เอามื้อว่า “เมื่อก่อนเคยทำข้าวโพด ลูกเดือย ที่เปลี่ยนเพราะมีหนี้ อยากปลดหนี้ อยากหาแนวทางการทำไร่ทำสวนนอกเหนือจากการทำพืชเชิงเดี่ยว ปี 43-44 ไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วกลับมาตั้งกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน มีสมาชิก 24 คน ค่อย ๆ เปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสาน ปลูกลิ้นจี่ ลำไย ผักหวาน ต่อมาขยายแนวคิดไปหมู่ 2 หมู่ 7 ขยายเครือข่ายพัฒนาภูหลวง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังสะพุง อ.ภูหลวง อ.ภูเรือ อ.ด่านซ้าย มีวิทยากรประจำเครือข่าย 35 คน พาไปดูงานให้ความรู้ตามความถนัดของแต่ละคน ปัจจุบันมีสมาชิก 104 คน ยอดเงินออม 1,200,000 บาท ต้องการแปรรูปผลผลิต น้ำหมากเม่า น้ำหมากหลอด ผ้าฝ้าย
“ตอนนี้หนี้ลดลง เพราะไม่ต้องลงทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ปลูกฝ้ายเก็บเมล็ดพันธุ์เองได้ ทำอินทรีย์ล้วน ผลผลิตออกตามธรรมชาติ ไม่มียากระตุ้น จึงได้บ้างไม่ได้บ้าง มีปัญหาเรื่องน้ำที่นับวันจะยิ่งวิกฤต จึงต้องขุดหนองน้ำ ทำแผนขอกู้สมาชิก ต้องใช้แบคโฮขุดลึกถึงจะเก็บน้ำได้ เคยเจาะน้ำบาดาล 2 บ่อ แต่ลึก 70 เมตรยังไม่ถึงน้ำ ส่วนน้ำตามธรรมชาติเช่นร่องน้ำห้วยแห้มที่ศูนย์ฯ เมื่อก่อนใช้ตะบันน้ำได้ 10 ปีที่ผ่านมา น้ำแห้ง 3-4 ปีนี้ปริมาณฝนน้อยมาก ในฝายน้ำแห้งหมด” นายแสวงกล่าวเสริม
“ปัจจุบันมีแปลงลิ้นจี่ 14 ไร่ปลูกเต็ม ให้เช่าทำขิง 5 ไร่ ส่วน 30 กว่าไร่ยังปลูกไม่เต็ม จะลงกาแฟ หมากเม่า ผสมผสาน เตรียมพันธุ์ไว้แล้ว พืชที่ให้ผลตลอดปี คือ ยอดหวาย มะขามหวาน ตอนนี้ปลูกสมุนไพร ขมิ้น เปราะหอม ไพร มีเครือข่ายสมุนไพรทั้งอภัยภูเบศร พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ เครือข่ายชุมชนของเบโด พาณิชย์จังหวัด และปฏิรูปที่ดิน”
นายศาสนา สอนผา ผู้จัดการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ให้ข้อมูลพื้นที่เอามื้อเพิ่มเติมว่า “ปี 48-49 ทำโครงการกับ สสส. เรื่องสุขภาพ มีการตรวจสารเคมีในเลือด พบว่าพบทุกคนชุมชนแม้แต่เด็กเล็ก เจอสารเคมีในเลือดแทบทุกคน ได้ข้อสรุปว่ามาจากอาหารซึ่งส่วนมากซื้อมาจากตลาด จึงทำเรื่องอาหารปลอดภัย ให้มีความมั่นคงด้านอาหาร ได้ไปอบรมกับ อ.ยักษ์ รุ่น 130 ปี 49 เริ่มเปิดเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง เปิดการอบรมปี 50 ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่อ.วังสะพุง แล้วย้ายมาที่บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง ทำงานด้านอบรมมา 1 ปีมีกลุ่ม 60 คนที่อยู่รอบภูหลวง บางคนเป็นครูได้ด้วย 35 คนเป็นวิทยากรกระบวนการ มาช่วยอบรมและเป็นพื้นที่ต้นแบบให้คนมาดูงาน จากนั้นได้ร่วมกับอภัยภูเบศรถอดองค์ความรู้ พบว่าอาหารที่ชาวบ้านกินในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เป็นสมุนไพร จึงส่งเสริมให้ปลูกขายให้อภัยภูเบศรเพื่อสร้างรายได้ กลุ่มชาวบ้านเข้มแข็งจึงลงมาทำจริงจัง สร้างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ จับเอาสมุนไพรมาเป็นตัวสร้างรายได้ ปลูกเชิงวนเกษตร ทำสมุนไพรอินทรีย์ ผสมผสาน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
เมืองเลยโดยเฉพาะพื้นที่นี้มีจุดเด่นเรื่องพืชสมุนไพรหอมของท้องถิ่น เช่น ไม้แข้ ไม้จวง เปราะหอม ใช้ทำเครื่องหอม เช่น สบู่ เป็นต้น ว่านสาวหลงใช้ทำลูกประคบ หรือใส่เป็นเครื่องพะโล้ ช่วยรักษาท้องอืด โรคสันนิบาต เป็นลมวิงเวียน คนเลยมีวัฒนธรรมการใช้ไม้ไผ่ ในการทำเครื่องจักสาน ไม้ไผ่เหี้ยเหมาะกับการทำหวดนึ่งข้าว ไม้ไผ่บงเหมาะกับการทำตอกมัดข้าว สมุนไพรที่ชาวบ้านนิยมทำมาก คือ ขิง แต่ปัญหา คือ ชาวบ้านเชื่อว่าปลูกขิงต้องย้ายที่ปลูกใหม่ ๆ ทำเป็นเหมือนไร่หมุนเวียน ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ต้องย้ายพื้นที่ ไม่ต้องใช้สารเคมีก็ทำได้”
โครงการ“พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาทิ
- วันที่ 12 กันยายน 2562 ทัศนศึกษาพื้นที่ของนายประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และนางสาวกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) 2 พี่น้องชาวปกาเกอะญอ พื้นที่ในโครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.ที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง
ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org