โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 7 ตะลุยพื้นที่ “สักหง่า” บ้านหินสอ กระตุ้นร่วมมือฟื้นฟูต้นน้ำป่าสักจากทุกภาคส่วน
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 7
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 เดินหน้าขยายเครือข่ายร่วมมือ หยุดท่วม หยุดแล้ง ในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน นำทีมพันธมิตรร่วมทัศนศึกษาป่าต้นน้ำป่าสัก ณ สักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย โดยมีผู้แทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “กิจกรรมทัศนศึกษาต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวบ้านในพื้นที่ในการฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก และหวังผลให้เป็นการกระตุ้นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา อันเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในการแก้ปัญหา ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน จนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น ‘วันดินโลก’ ซึ่งในปีนี้เป็นการรณรงค์เรื่องการ ‘ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน (Stop Soil Erosion Save Our Future)’ ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมรณรงค์ของโครงการฯ
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” มุ่งเน้นการต่อยอดการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยมาก ด้วยมีลักษณะเป็นที่ลาดชันสูง หากฝนชุกน้ำก็จะไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำท่วมซ้ำซากในบางพื้นที่ แต่หากฝนน้อย จะแห้งแล้งจนพืชผลเสียหาย เนื่องจากลักษณะพื้นที่ไม่สามารถเก็บน้ำได้ กอปรกับผมได้เคยมาเห็นพื้นที่ป่าต้นน้ำแห่งนี้ ที่เป็นเขาหัวโล้นก่อนเริ่มทำโครงการฯ จึงมุ่งหวังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาอย่างจริงจัง”
“เทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่สักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 15,625.87 ตารางกิโลเมตร” นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าว “ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง และป่าไม้ถูกทำลายไปมากเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ไม่มีพื้นที่ซับน้ำ ไม่มีรากไม้ยึดเกาะดิน เกิดปัญหาดินถล่ม การชะล้างหน้าดิน ดินตะกอนทับถมในแม่น้ำจนตื้นเขิน จึงเกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างรุนแรง และภัยพิบัติในที่สุด ชาวบ้านหินสอจึงชักชวนกันคืนผืนป่าและช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูจนป่าต้นน้ำกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง แต่ก็ยังต้องการความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน และเผยแพร่องค์ความรู้และกระตุ้นให้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้และลงมือทำจริงเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน”
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมว่า “จ.เลย เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นน้ำป่าสัก ที่ไหลผ่าน 7 จังหวัด ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา การที่โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้เผยแพร่องค์ความรู้ นำเสนอตัวอย่างบุคคลต้นแบบ และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมเอามื้อสามัคคี การปั่นจักรยานรณรงค์ การผลิตสื่อในหลากหลายรูปแบบ ฯลฯ จึงสามารถสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ชาวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่
กิจกรรมทัศนศึกษาป่าต้นน้ำป่าสัก ที่ จ.เลย ในครั้งนี้ โครงการฯ ยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์เพิ่มพืชอาหารให้แก่สัตว์ป่า โดยใช้เมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น ได้แก่ ตาว กระบก มะกอกป่า เป็นต้น ด้วยหวังว่าเมล็ดพันธุ์จะเติบโตสร้างความสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำป่าสักแห่งนี้ยิ่งขึ้นด้วย”
นายวิรัตร ศรีบุรินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปลาบ่า และ นายวุฒิชัย พรมมานอก ผู้ใหญ่บ้านหินสอ อ.ภูเรือ จ.เลย ร่วมกันให้ข้อมูลว่า สักหง่า พื้นที่ต้นน้ำป่าสัก อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ในอดีตชาวบ้านแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชไร่ ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ว่าการทำลายป่าจะทำให้ดินพัง น้ำแห้ง นายธัน พรมวัน อดีตผู้ใหญ่บ้านหินสอจึงเป็นผู้นำชักชวนชาวบ้านให้คืนผืนป่า ได้พื้นที่ป่าคืนมา 2,000 กว่าไร่ ทำแนวกันไฟ จนป่าฟื้นสภาพสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
บริเวณนี้เป็นต้นน้ำ มีร่องน้ำหลายร่องห้วย มีน้ำตลอดทั้งปีไม่ขาดแคลนน้ำ มีการทำฝายน้ำล้น ส่วนชาวบ้าน ยังมีพื้นที่ทำกินรอบ ๆ ป่า โดยปลูกพืชผสมผสาน ผักสวนครัวปลอดสาร และมันสำปะหลัง โดยปลูกแมคคาเดเมียเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการเกษตรที่สูงได้มาทดลองปลูกแล้วได้ผล จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกซึ่งให้ผลผลิตมา 5-6 ปีแล้ว ตอนนี้กำลังหาอุปกรณ์ เช่น เครื่องกะเทาะ การแปรรูป ตลาดรับซื้อ และการส่งออก ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังแทรกระหว่าไม้ยืนต้น เมื่อไม้โตก็จะเลิกปลูกมัน พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจึงลดลงเรื่อย ๆ
พื้นที่ทำกินของหมู่บ้านนี้ 64 ครัวเรือน รวม 2,000 ไร่ ของธันและลูก ๆ 100 ไร่เป็นพื้นที่แรกของโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ของต.ปลาบ่า ซึ่งสนับสนุนให้ปลูกพืชผสมผสาน และปลูกไม้ยืนต้นที่เหมาะกับพื้นที่
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาทิ
- วันที่ 12 กันยายน 2562 ทัศนศึกษาพื้นที่ของนายประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และนางสาวกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) 2 พี่น้องชาวปกาเกอะญอ พื้นที่ในโครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.ที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง
- วันที่ 26 ตุลาคม 2562 ร่วมงาน “สานพลังสามัคคี” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org