"ตามรอยพ่อฯ" ปี 7 เปิดผลวิจัยแม่ฮ่าง จ.ลำปาง บทพิสูจน์ “ศาสตร์พระราชา" แก้ปัญหา ดิน-น้ำ-ป่า ฟื้นคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 7

7 ปี ของความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนที่ร่วมมือสนับสนุนโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เริ่มส่งผลสัมฤทธิ์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในแง่ของการพลิกฟื้นธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และคืนคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกร อย่างพื้นที่ในแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง หนึ่งในพื้นที่วิจัย ภายใต้โครงการ “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” บ่งชี้ว่า การทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ทำให้กักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งจากไม้ท้องถิ่นฟื้นขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ปลูกเพิ่ม คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งเกิดเครือข่ายผู้รู้ที่พร้อมส่งต่อความรู้และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

การวิจัยดังกล่าวดำเนินงานโดย ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (Integrated Technology Operation KMITL: ITOKmitl) ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ติดตาม ประเมินผล และสร้างองค์ความรู้ ต่อยอดไปสู่การปรับปรุงและวางแผนการขับเคลื่อนแนวคิด โคก หนอง นา โมเดล ไปสู่การปฏิบัติในอนาคต โดยการวิจัยดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โดยความร่วมมือระหว่าง เชฟรอนประเทศไทย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะช่วยเร่งให้เกิดการแตกตัวไปสู่คนในลุ่มน้ำอื่น ๆ ได้ลงมือทำตาม 

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “การทำโครงการวิจัยในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการติดตามผลการรณรงค์ ให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ของการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมตามหลักภูมิสังคม โครงการวิจัยนี้กระตุ้นให้เกษตรกรเกิดกำลังใจ (Morale support) ที่จะทำเพิ่มเติม สามารถให้คำแนะนำเรื่องเทคนิคต่าง ๆ (Technical support) เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำงาน และงบประมาณ (Money Support) ในสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่ใช่สปอยล์จนตาโต” 

หัวใจของศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่นอกเหนือไปจากการออกแบบพื้นที่และการทำ โคก หนอง นา คือ การพัฒนาคน ซึ่งมีกระบวนการสำคัญ 4 ข้อ คือ เปลี่ยนความคิด (Mindset) เรียนรู้ทักษะ ฝึกให้มีความชำนาญ และจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งสองข้อแรก ได้จากการเข้าฝึกอบรม ข้อที่สามได้จากการลงมือทำ อย่างการร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เพื่อฝึกให้มีความชำนาญ รวมทั้งสนับสนุนทำการวิจัยเพื่อเก็บข้อมูล ก่อนจะสื่อสารออกไปสู่สังคม

“ที่แม่ฮ่าง เราประสบความสำเร็จมากในแง่การพัฒนาคน ซึ่งเป็นความสำเร็จที่มีค่ามากเกินกว่าจะวัดเป็นตัวเลขได้ เช่น นายประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และนางสาวกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) สองพี่น้องปกาเกอะญอ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองจนเป็นครูพาทำ ไปช่วยอบรมและสอนคนในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ การที่ทั้งสองอยู่กับป่ามาทั้งชีวิต ทำให้เข้าใจในธรรมชาติของพื้นที่ ผนวกกับองค์ความรู้ใหม่และความคิดสร้างสรรค์  ทำให้ติ่งสามารถออกแบบพื้นที่ได้อย่างชำนาญ โดยอาศัยความเข้าใจเรื่องร่องน้ำธรรมชาติ แม้ในพื้นที่ยาก ๆ ที่ไม่มีใครทำได้ ติ่งก็สามารถนำน้ำเข้ามายังพื้นที่ที่ต้องการจนได้ จนได้รับการขนานนามว่า ‘ด็อกเตอร์ติ่ง’” ดร.วิวัฒน์กล่าวเสริม

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงที่มาของการทำโครงการวิจัยว่า “จากการรณรงค์ตามรอยศาสตร์พระราชาตั้งแต่ปี 2556 มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นทุกปี และได้เห็นผลสำเร็จเชิงประจักษ์ในพื้นที่ของผู้ที่ลงมือปฏิบัติ ทว่ายังขาดการจัดเก็บข้อมูลและประเมินผลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ไม่สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม เชฟรอนจึงร่วมกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. จัดทำโครงการวิจัยดังกล่าวขึ้น โดยจะนำผลสรุปจากการเก็บข้อมูลตลอด 2 ปีที่ผ่านมาออกมาถอดบทเรียนเป็นชุดความรู้และคู่มือ เพื่อให้ชุมชนอื่น ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต” 

ทั้งนี้ โครงการวิจัยฯ ครอบคลุม 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือที่แม่ฮ่าง จ.ลำปาง ภาคอีสานที่บ้านนาเรียง จ.อุดรธานี และภาคตะวันตกที่บ้านห้วยกระทิง จ.ตาก พื้นที่ละ 100 ไร่ รวม 300 ไร่ และได้ขยายพื้นที่วิจัยเป็น 400 ไร่ เนื่องจากมีผู้สนใจเป็นอย่างมาก  ด้านกลุ่มคนที่นำแนวคิดโคก หนอง นา ไปปฏิบัติ จึงเพิ่มจาก 30 ราย เป็น 40 ราย

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. กล่าวว่า “ประเด็นหลักในการวิจัย ได้แก่ การประมวลความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของการจัดการดิน น้ำ ป่า บริบทด้านสภาพแวดล้อม ผลผลิต เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีสมมุติฐานว่า ผู้ที่นำแนวคิด โคก หนอง นา โมเดล ไปปฏิบัติ ตามแนวทางที่ได้มีการออกแบบไว้ จะส่งผลให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ สามารถในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า กลุ่มวิจัยมีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ ดินอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของพืชพรรณต่าง ๆ มากขึ้น ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

เมื่อลงลึกในรายละเอียดพบว่า ด้านดิน เดิมพื้นที่มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ดินแข็งเสื่อมสภาพจากการใช้สารเคมีมานาน ก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี ส่วนผลวิจัยน้ำพบว่า เดิมกักเก็บน้ำได้ไม่เกิน 10% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ ในปัจจุบันสามารถเก็บน้ำใต้ดินได้โดยเฉลี่ยถึง 45% ของปริมาณน้ำฝน ส่วนที่เหลือจะเก็บในหนอง นา และคลองไส้ไก่ หรือที่เรียกว่าน้ำบนดิน ซึ่งสามารถเก็บได้เกิน 100% ทุกแปลง จากน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่อื่น ๆ ด้านพรรณพืช มีความหลากหลายมากขึ้น จากการปลูกเพิ่มและการฟื้นคืนของไม้พื้นถิ่น โดยเฉลี่ยมีมากกว่า 50 ชนิดต่อพื้นที่ เน้นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยผสานความหลากหลายของไม้ทั้ง 5 ระดับ รวม 3 พื้นที่วิจัย มีการปลูกต้นไม้เพิ่มไปแล้วกว่า 172,327 ต้น 

ด้านคุณภาพชีวิต จากการให้ชาวบ้านทำบัญชีครัวเรือนเองพบว่า ลดค่าใช้จ่ายสารเคมี โดยทำน้ำหมักไว้ใช้เอง เกิดรายรับบ่อยขึ้น จากการนำผลผลิตมาแปรรูปและจัดจำหน่าย และจากการเป็นวิทยากรให้หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเดิมมีรายรับที่ไม่แน่นอน จากข้าวโพดอย่างเดียวประมาณปีละ 30,000 บาท 

ด้านการพัฒนาคน โครงการฯ ประสบความสำเร็จมาก ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่บ้านแม่ฮ่าง สองพี่น้องชาวปกาเกอะญอ นายประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) และน.ส.กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ข้าวโพดให้เป็นป่าใช้สอยจนพึ่งพาตนเองได้ และนำความรู้ของตนไปเผยแพร่ต่อ โดยเป็นวิทยากรอบรม ในเขตพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อ.เชียงม่วน อ.ปง จ.พะเยา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และไปถึง จ.สุโขทัย อีกทั้งเป็นครูพาทำให้กับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ 

นางสาวกรองกาญจน์ กล่าวว่า “ต๋อยสังเกตเห็นว่าผู้ปกครองและเด็กที่บ้านทำพืชเชิงเดี่ยว มักมีปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมี จึงรณรงค์ให้ลดละเลิกใช้สารเคมี แต่พอพาไปดูงานตามที่ต่าง ๆ ก็ไม่ตอบโจทย์เพราะเป็นการทำในเชิงพาณิชย์ที่ชาวบ้านทำตามไม่ได้”

จนปลายปี 2557 นายณัฐพงษ์ มณีกร จากหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย และคณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ชักชวนให้ชาวบ้านไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ติ่งน้องชายของเธอเข้าอบรมด้วย แล้วกลับมาเริ่มทำในครอบครัวเมื่อปี 2558 เริ่มจากขุดหลุมขนมครกเพื่อเก็บน้ำในดิน จนกระทั่งร่องน้ำที่เคยแห้งกลับมีน้ำชุ่มตลอด นอกจากนี้ยังได้ขุดคลองไส้ไก่ ทำฝาย ขุดนาขั้นบันได ปลูกไม้ผล เช่น ฝรั่ง เงาะ อโวคาโด และพืชผสมผสาน ที่เหลือปล่อยเป็นป่า เพื่อจะได้ไม่ต้องไปรบกวนป่าธรรมชาติ ปัจจุบันทำได้ราว 2 ไร่ และมีเป้าหมายที่จะทำไปเรื่อย ๆ จนเต็มพื้นที่ทั้ง 21 ไร่

ส่วนต๋อยเองใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชนชาวปกาเกอะญอ ทำไร่ ปลูกข้าวไร่ปีละครั้ง ปลูกแตงกวา ฟักทอง ถั่ว งา ผักสวนครัวอื่น ๆ และไม้ผลในแปลงที่ปรับเป็นโคก หนอง นา 10 ไร่ ซึ่งผ่านมา 2 ฤดูแล้งแล้ว ที่ไม่ขาดน้ำ นอกจากนั้น ยังทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไว้ใช้เอง เช่น สบู่ แชมพู น้ำหมัก และการแปรรูปผลผลิตจากไร่  โดยเน้นการแบ่งปัน ไม่ได้ขายเพื่อเอากำไร เธอยังพาคนไปอบรมและเป็นวิทยากรสนับสนุนให้คนอื่นทำด้วย เพราะนับตั้งแต่การปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวเข้ามาในหมู่บ้าน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ป่าถูกทำลายจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่การนำศาสตร์พระราชามาใช้ช่วยลดการทำลายป่าและทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง 

อีกหนึ่งพื้นที่ในโครงการวิจัยฯ เป็นของนางปนัดดา ปิ่นเงิน (แดง) เจ้าของไร่ตะวันแดง หมู่ 4 บ้านแม่ฮ่าง ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง ที่ปรับมาทำโคก หนอง นา แทนไร่ข้าวโพดอย่างจริงจัง เล่าว่า “เคยเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน 30,000 บาท แต่โครงการวิจัยฯ เข้ามาช่วยปลดหนี้ให้ด้วยการทำ ‘ธนาคารต้นไม้’ ซึ่งแดงก็ปลูกต้นไม้จนปลดหนี้ได้ ส่วนมากปลูกไม้ผล โดยปลูกกล้วยก่อนเพื่อให้ร่มเงาและความชุ่มชื้น ทุกวันนี้แทบไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะทำเองทุกอย่าง ทำน้ำหมักเอง ปลูกข้าวกินเอง ถ้าต้องการเงินเพื่อซื้อเกลือ ปลาร้า กะปิ ก็เพียงแต่ขายผลผลิตจากไร่ ทั้งกล้วย พริก มะเขือ ก็ทำให้มีรายรับอย่างสม่ำเสมอ โดยขายในชุมชนเพราะยังมีคนที่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียวและต้องซื้อทุกอย่างกินอยู่” 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำเร็จจากงานวิจัยได้มีการต่อยอดไปสู่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติจำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง จ. อุดรธานี และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา จ.ตาก ซึ่งได้เปิดอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้วจำนวน 4 และ 3 รุ่น ตามลำดับ ส่วนที่แม่ฮ่าง จ.ลำปาง แม้จะไม่ได้เปิดศูนย์เรียนรู้ แต่มีความสำเร็จในรายบุคคล เช่น ติ่งและต๋อย ที่ปัจจุบันได้ร่วมถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนจำนวนหลายร้อยคน

“เชื่อมั่นว่าผลวิจัยนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการขยายผลไปได้อีกมาก อย่างน้อยคนที่ยังรีรออยู่จะได้มั่นใจ เพราะมีบทพิสูจน์ให้เห็นเชิงวิชาการ ที่สำคัญคือ นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทั่วโลกได้ประจักษ์อีกครั้ง ถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์ แก้ปัญหาเรื่อง ดิน น้ำ ป่า คน อย่างยั่งยืนได้จริง” นายอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย