โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 8 เดินหน้าจัดกิจกรรมอบรมและเอามื้อสามัคคี 3 จว. ลพบุรี ชัยภูมิ ฉะเชิงเทรา ยึดแนวทาง “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”

โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 8 เดินหน้าจัดกิจกรรมอบรมและเอามื้อสามัคคี 3 จว. ลพบุรี ชัยภูมิ ฉะเชิงเทรา ยึดแนวทาง “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 8

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เดินหน้าสู่ปีที่ 8 จัดกิจกรรมอบรมและเอามื้อสามัคคีที่จังหวัดลพบุรี ชัยภูมิ และฉะเชิงเทรา ภายใต้แนวคิด “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักแก่ประชาชนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วม น้ำแล้ง และสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของคนมีใจที่ใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางปฏิบัติทำให้รอดในทุกวิกฤต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) 
 
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้
 
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “จากการที่โครงการตามรอยพ่อฯ ได้ขับเคลื่อนมาจนเข้าสู่ปีที่ 8 ซึ่งเป็นระยะที่ 3 ของแผนหลัก 9 ปี (แบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี) ของโครงการ ซึ่งระยะแรก คือ การตอกเสาเข็ม สร้างการรับรู้ ระยะที่ 2 การแตกตัว เป็นการขยายผล สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระยะที่ 3 การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับสู่การแข่งขันได้ ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการเดินตามบันได 9 ขั้น ไปสู่ความพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์ เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนา คือ คน  โครงการจึงพยายามสร้างคน จากคนมีใจ สู่เครือข่าย และแม่ทัพผู้พาทำ เพื่อร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป

จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เห็นผลเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ทำให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพื้นฐานปัจจัย 4 ครบ ทั้งอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทำให้คนพอมี พอกิน พออยู่ พอใช้ และยังสามารถแบ่งปัน สร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ก็สามารถอยู่รอดได้และยังช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานข้อความเตือนสติคนไทยผ่าน ส.ค.ส. ปี พ.ศ. 2547 ที่ว่า ’สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย’ พร้อมทรงวาดภาพระเบิด 4 ลูกล้อมรอบประเทศไทยอยู่ ซึ่งถึงวันนี้ประจวบเหมาะพอดีกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระเบิด 4 ลูก หมายถึงวิกฤต 4 ด้านที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ คือ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเสาหลักที่จะกู้วิกฤตทั้ง 4 ด้านนี้ได้ โดยต้องปรับแนวคิดการดำเนินชีวิตใหม่ จะเห็นได้ว่าทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ทรงเตือนคนไทยล่วงหน้าหลายปีเพื่อให้เตรียมพร้อมระวังภัย และได้พระราชทานศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยปฏิบัติเพื่อพึ่งพาตัวเองได้และใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อเป็นทางรอดจากทุกวิกฤตดังกล่าว”

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 8 ว่า “ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันลดการแพร่ระบาดด้วยการรักษาระยะห่าง โครงการตามรอยพ่อฯ จึงได้ปรับแผนการดำเนินกิจกรรมโดยเน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลักมากว่า 4 เดือน (มี.ค.-มิ.ย.63) เพื่อให้กำลังใจและความรู้แก่ประชาชนในการนำศาสตร์พระราชามาใช้รับมือวิกฤตในครั้งนี้ ขณะนี้จากมาตรการเข้มข้นของภาครัฐกอปรกับความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวไทย ทำให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศ ภาครัฐจึงมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในแบบ New Normal หรือ วิถีชีวิตแบบปกติใหม่ที่ยังคงเน้นการดูแลตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 โครงการตามรอยพ่อฯ จึงได้กำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมออนกราวด์ขึ้นอีกครั้ง ทั้งกิจกรรมฝึกอบรมและกิจกรรมเอามื้อสามัคคี หรือ การลงแขกอย่างโบราณนั่นเอง เพื่อน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 20,000 คน

ทั้งนี้กิจกรรมออนกราวด์จะทำควบคู่กับการสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ ของโครงการ ซึ่งยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ และอินสตาแกรม” 

ทั้งนี้ กิจกรรมออนกราวด์ของโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8 จะเริ่มด้วยการฝึกอบรม หลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp) หัวข้อของการฝึกอบรม คือ ‘CMS สู้ อยู่ หนี รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา’ ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (วัดใหม่เอราวัณ) อ.เมือง จ.ลพบุรี

ส่วนกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปีนี้กำหนดจัด 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ศูนย์การเรียนรู้ที่อดีตผู้ว่าราชการ จ. ชัยภูมิ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต ได้รวบรวมคนมีใจและมีความรู้ด้านหลักกสิกรรม มาถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวชัยภูมิ  และครั้งที่ 2 ณ โคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่ง ขาวัง คือ ร่องน้ำรอบแปลงนา  เป็นผืนนามหัศจรรย์แห่งภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวนาบางปะกง ผืนนาที่นี่เป็นพื้นที่ระบบนิเวศ 3 น้ำ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ทำนาในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งตั้งแต่น้ำกร่อยจนน้ำเค็มก็เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา ซึ่งที่นี่อาจเป็นผืนนานิเวศ 3 น้ำที่เดียวในโลก โดยจะมีกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์จากโคก หนอง นามหานคร (หนองจอก) ถึง โคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการยังมีช่องทางสื่อสารในรายการเจาะใจ ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD ในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมออนกราวด์ โครงการฯ ได้จัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมกิจกรรม อาทิ หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ ถุงมือผ้า ถุงมือยาง แอลกอฮอล์ทั้งแบบน้ำและแบบเจล และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่พักและอาคารที่มีการรวมตัวกัน ทั้งกำหนดระยะห่างระหว่างบุคคลในขณะทำกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย New Normal ของรัฐบาลอีกด้วย