“ตามรอยพ่อฯ ปี 9” จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ จุดเริ่มต้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา ตอกย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้ทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

“ตามรอยพ่อฯ ปี 9” จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ จุดเริ่มต้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา ตอกย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้ทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการ ปี 9

“ตามรอยพ่อฯ ปี 9” จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ จุดเริ่มต้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา ตอกย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้ทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน จัดเต็มรูปแบบ ทั้งขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ การเอามื้อสามัคคีในพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จ ส่งต่อแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 9” (ตามรอยพ่อฯ ปี 9) จัดกิจกรรมรณรงค์ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำป่าสัก[1] จุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เผยความสำเร็จแนวทางการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน โดยจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี (ลงแขก) ณ โคกหนองนาโปรดปัน ต.ระโสม อ.ภาชี พื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จของ  คนมีใจ พร้อมจัดขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ระยะทาง 119 กม. มั่นใจการขยายผลแตกตัวของโครงการทำให้เกิดกระแสความสนใจในทุกวงการอย่างกว้างขวาง องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นจะสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่รู้จบ

‘อยุธยา’ จุดเริ่มต้นแห่งพลังสามัคคี

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ เกิดขึ้นในปี 2556 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ว่าลุ่มน้ำป่าสักจัดการได้ยากเพราะมีความลาดชันสูง สิ่งที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน จึงเกิดการรวมตัวของ 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ศาสนาและสื่อมวลชน เพื่อดำเนินกิจกรรมรณรงค์ เผยแพร่ ส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้พระราชทานไว้แก่คนไทย โดยมุ่งหวังให้คนไทยเกิดการตระหนัก สนใจ เรียนรู้ และลงมือทำ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ผ่านพ้นทุกวิกฤตปัญหาได้อย่างยั่งยืนและยังส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้ด้วย โดยเน้นการทำตัวอย่างให้ดู และรณรงค์ให้คนที่มีกำลัง ลุกขึ้นมาทำตาม เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ครั้งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การขยายผลแตกตัวอย่างกว้างขวาง เกิดเครือข่ายของคนมีใจหรือผู้สนใจในการลงมือปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชา และมีพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ทั้งในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำป่าสักเองและลุ่มน้ำอื่น ๆ ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ”  

ดร.วิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า “สำหรับกิจกรรมรณรงค์ของโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 9 เราเลือกกลับมาจัดที่พระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุดท้ายของปลายลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ อีกครั้ง ซึ่งด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มและเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำสำคัญหลายสาย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้ทุกปี เราจึงยังคงต้องรณรงค์ให้เกษตรกรนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งการขุดหนองเพื่อเก็บน้ำ การนำดินที่ได้จากการขุดหนองมาปั้นเป็นโคกสูงเพื่อให้เป็นที่สร้างที่อยู่อาศัย เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ หรือการทำโคก หนอง นา นั่นเอง ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำที่พระนครศรีอยุธยาจังหวัดปลายน้ำเพียงจังหวัดเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทำทั้งระบบทุกจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำมา จึงจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน”

ส่งต่อแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาต่อไปไม่รู้จบ

กิจกรรมรณรงค์ของโครงการตามรอยพ่อปี 9 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2565 วันแรกเป็นกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์ ของกลุ่มนักปั่นสะพานบุญและเครือข่ายของโครงการตามรอยพ่อฯ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 119 กิโลเมตร โดยเริ่มเส้นทางจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จนถึง แปลงโคกหนองนา โปรดปัน อำเภอภาชี ของนายไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในวันถัดมา โดยวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยตามมาตรการคัดกรองโควิด-19 อย่างเข้มข้น อาทิ การควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนต้องแสดงผลยืนยันการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ก่อนร่วมงานไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมถึงเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม เป็นต้น

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

กล่าวเกี่ยวกับกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ ปี 9 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน’ โดยเลือกพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จของคุณไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเภสัชกรที่ศรัทธาในศาสตร์พระราชา ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง สร้างพื้นที่จากที่นาว่างเปล่ามาทำเป็นโคก หนอง นา ปลูกไม้ป่าให้ความร่มรื่น และกำลังปลูกพืชอาหารและสมุนไพรเพิ่ม คุณไพโรจน์ได้ทำให้เห็นเป็นต้นแบบว่าโคก หนอง นา ทำได้จริง หยุดท่วม หยุดแล้งได้จริง ในขณะที่พื้นที่รอบข้างยังคงประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งในภายภาคหน้าพื้นที่แห่งนี้ก็จะเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยและเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 200 คน แบ่งเป็นเครือข่ายเอามื้อจากจังหวัดต่างๆ 140 คน ผู้สมัครผ่านทางเฟซบุ๊กโครงการฯ 30 คน ตลอดจนพนักงานเชฟรอนและครอบครัวอีก 30 คน มาร่วมเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขุดปรับคลองไส้ไก่รอบแปลงนาและรอบหนองน้ำ ทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร ห่มฟางใส่ปุ๋ยแห้งปุ๋ยน้ำ เพาะผัก เพาะต้นไม้ และทำน้ำยาอเนกประสงค์ เป็นต้น”

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อ 9 ปีที่แล้ว โครงการตามรอยพ่อฯ ได้เริ่มทำกิจกรรมรณรงค์ครั้งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรก โครงการได้เริ่มทำกิจกรรมในปี 1 (พ.ศ. 2556) โดยในครั้งนั้น เราได้จัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น รณรงค์เป็นระยะเวลา 9 วัน ในชื่อ ’จากปลายน้ำสู่กลางน้ำ  สร้างหลุมขนมครกในแบบโคก หนอง นา โมเดล หยุดท่วมหยุดแล้งอย่างยั่งยืน’ เพื่อแสดงพลังในการเรียนรู้ และน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมาสู่การปฏิบัติ โดยการเดินทางเริ่มจาก ‘พื้นที่ปลายน้ำ พร้อมเผชิญเหตุอุทกภัย’ ที่วัดชูจิตธรรมาราม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังต้นน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี  ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา โครงการตามรอยพ่อฯ ได้สร้างตัวอย่างความสำเร็จของผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาว่าสามารถรอดพ้นจากทั้งวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง และล่าสุดคือวิกฤตโควิด-19 ได้จริง โดยไม่เพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว แต่ยังเป็นที่พึ่งให้กับคนและชุมชนรอบข้างได้อีกด้วย อันจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีผู้สนใจและลงมือปฏิบัติตามองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทยต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ”

นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวเสริมข้อมูลพื้นที่ว่า “จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 2,556.64  ตารางกิโลเมตร หรือ 1,579,900 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ มีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อย รวมความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร มีลำคลองใหญ่น้อยประมาณ 1,254 คลอง เชื่อมต่อกับแม่น้ำเกือบทั่วบริเวณพื้นที่ ในฤดูน้ำหลากจึงเกิดการท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี พื้นที่ของคุณไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ เป็นพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัตินั้นสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน”

ใช้ศาสตร์พระราชาสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อครอบครัว

ด้าน นายไพโรจน์ วิภาสวัสดิ์ เจ้าของพื้นที่โคกหนองนาโปรดปัน ขนาด 19 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ระโสม อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงที่มาในการลงมือปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาว่า “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ภรรยาเป็นคนสระบุรี มีอาชีพเป็นเภสัชกรทั้งคู่ โดยเปิดร้านขายยาที่จังหวัดสระบุรี แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจหาซื้อที่เพื่อปลูกบ้านเพื่ออยู่กับธรรมชาติ โดยเริ่มจากซื้อที่นา 2 ไร่เศษ และซื้อเพิ่มต่อ ๆ มาจากเจ้าของเดิมอีก 8 แปลง รวมเป็น 19 ไร่เศษ ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นที่นาทั้งหมด มีป่าไผ่ 1 ไร่ จากนั้นจึงเริ่มหาความรู้โดยดูยูทูป อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ แห่งศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งได้แรงบันดาลใจจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ที่ทุ่มเทเผยแพร่ศาสตร์พระราชา ในปี 2558 จึงได้ไปอบรมหลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp) รุ่นแรก ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติและที่มาบเอื้อง จึงกลับมาปรับพื้นที่”

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “เนื่องจากพื้นที่มีขนาดใหญ่จึงเน้นการทำแบบ ‘เล็ก แคบ ชัด’ โดยขุดบ่อ 8 บ่อ สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ขุดคลองไส้ไก่ มีแปลงนาขนาด 2 ไร่ บนโคกปลูกไม้ป่าหายาก โดย 70-80% เป็นต้นไม้ที่เพาะเอง มีผลผลิต เช่น ข้าว ตะไคร้ และกล้วย เน้นเก็บกินเอง เพราะไม่มีเวลาตัดไปขาย ตอนนี้ได้ปลูกข้าวกินเองมา 5 ปีแล้ว เมื่อพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติก็กลับคืนมา ปัจจุบันผมและภรรยาทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ถึงจะเข้ามาอยู่สวน ส่วนลูก 2 คน เรียนที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อมีโอกาสก็จะให้ลูกได้เรียนรู้โดยให้มาช่วยทำสวน หรือบางทีก็พาไปเอามื้อด้วย”

นายไพโรจน์ กล่าวถึงแผนการในอนาคตของโคกหนองนาโปรดปันว่า “จากการเป็นเภสัชกรพบว่ามีผู้ป่วยจากแผลติดเชื้อ ผื่นคันจากการใช้สารเคมี การจะแก้ปัญหาต้องทำเชิงรุก โดยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง นอกจากจะได้ผลผลิตความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังจะได้สุขภาพที่ดีด้วย เป้าหมายของผมคืออยากทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นต้นแบบให้คนทั่วไปเห็นว่าทำได้จริง และอยากให้ชาวนาที่เป็นเจ้าของพื้นที่โดยรอบเห็นว่า นอกจากทำนาแล้วยังสามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย โดยพร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมได้ อนาคตอันใกล้นี้อยากปลูกบ้านในสวน เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับครอบครัว พ่อ แม่ และให้ลูกมีพื้นที่ได้อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น”

ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

 

[1] ลุ่มน้ำป่าสักไหลผ่าน 7 จังหวัด ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา