“ตามรอยพ่อฯ” แจงผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตลอด 9 ปี สร้างการรับรู้ดีเกินคาด ก่อให้เกิดการตื่นตัวทุกวงการ ย้ำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้วิกฤตได้อย่างยั่งยืน
ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการ ปี 9
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) จัดงานสรุปผลความสำเร็จหลังดำเนินงานมาครบ 9 ปี โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2564 และมีผลการดำเนินงานดีเกินคาด ทั้งด้านการสร้างคนมีใจ เครือข่าย และศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นไปตามเป้าหมาย และกิจกรรมเอามื้อสามัคคีหรือการลงแขกในพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างมาก ทำให้แนวคิดในการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัติแผ่ขยายแตกตัวไปทั่วทั้ง 22 ลุ่มน้ำในประเทศ เกิดการรับรู้และกระแสความตื่นตัวที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกัน รวมถึงเกิดแรงกระเพื่อมสู่การเปลี่ยนเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ งานสรุปผลดังกล่าวจัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี พื้นที่ของคนมีใจที่ร่วมกิจกรรมโครงการตั้งแต่ปีแรก โดยเครือข่ายจากทั้งในและนอกลุ่มน้ำป่าสักเข้าร่วมงานและนำผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปร่วมออกร้าน พร้อมจัดกิจกรรมอบรมหลักการออกแบบโคก หนอง นา และฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ 9 คน 9 ปี ขึ้นเวทีร่วมเสวนา เพื่อยืนยันว่าศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้วิกฤตได้จริง พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ต่อไป
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” กำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน โดยได้น้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติ เป้าหมายเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน จนสามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและการขยายผลครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยการดำเนินงานเริ่มจากการสร้างพื้นที่ต้นแบบ รวมทั้งบุคคล ชุมชน และโรงเรียนต้นแบบ แล้วจึงขยายผลออกไปสู่ลุ่มน้ำอื่น ทั่วประเทศ”
ทั้งนี้ โครงการมีกรอบการดำเนินงาน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี โดยระยะที่ 1 พ.ศ. 2556 – 2558 คือ ระยะตอกเสาเข็ม เป็นการสร้างการรับรู้ และสร้างตัวอย่างความสำเร็จหลากรูปแบบทั้ง บุคคล ชุมชน โรงเรียน และสร้างศูนย์เรียนรู้ สรุปการดำเนินกิจกรรมในระยะที่ 1 สร้างการรับรู้ด้วยการเดินทางวิ่ง-เดิน-ปั่น กว่า 900 กิโลเมตร ในพื้นที่ 5 จังหวัด มีอาสาสมัครและคนมีใจร่วมกิจกรรมกว่า 8,000 คน
- ปีที่ 1 พ.ศ. 2556 เป็นกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่นรณรงค์ ”จากปลายน้ำสู่กลางน้ำ สร้างหลุมขนมครกในแบบโคก หนอง นา โมเดล หยุดท่วมหยุดแล้งอย่างยั่งยืน” จากกรุงเทพฯ ถึง จ.พระนครศรีอยุธยาและ จ.สระบุรี
- ปีที่ 2 พ.ศ. 2557 กิจกรรม ”สร้างหลุมขนมครก เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นเขาหัวจุก” ที่ จ.เพชรบูรณ์
- ปีที่ 3 พ.ศ. 2558 กิจกรรม ”สร้างหลุมขนมครก ในแบบของคุณ” ที่ จ.ลพบุรีและ จ.เพชรบูรณ์
กรอบการดำเนินงานในระยะที่ 2 พ.ศ. 2559 – 2561 คือ ระยะแตกตัว เป้าหมายเป็นการขยายผลในระดับทวีคูณ สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือในการยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิต (บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร) สรุปการดำเนินกิจกรรมในระยะที่ 2 สร้างพื้นที่ต้นแบบ 8 แห่งใน 8 จังหวัด สร้างการมีส่วนร่วมของคนมีใจที่ร่วมกิจกรรมกว่า 10,000 คน และเกิดศูนย์การเรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด
- ปีที่ 4 พ.ศ. 2559 คือ การสร้างหลุมขนมครก ”ป่าสักโมเดล” ในพื้นที่ “ห้วยกระแทก” ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ซึ่งเป็นหลุมขนมครกขนาดพื้นที่ 600 ไร่ และเป็นหลุมขนมครกที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดจากการรณรงค์ของโครงการ
- ปีที่ 5 พ.ศ. 2560 ”แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่าง โดยร่วมสร้าง ”เพลิน area” ที่แปลงเกษตรสาธิต คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, สร้างพื้นที่เรียนรู้ตามรอยศาสตร์พระราชาที่ไร่สุขกลางใจ จ.ราชบุรี, สร้างต้นแบบจากชาวบ้านสู่ความร่วมมือ 7 ภาคี ด้วยพลังเอามื้อสามัคคี โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้านคริสตจักรนาเรียง จ.อุดรธานี และสร้างพื้นที่ต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง “คนอยู่ ป่ายัง อย่างยั่งยืน” ที่ห้วยป่ากล้วย และศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร.) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
- ปีที่ 6 พ.ศ. 2561 “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี“ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ สร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชากลางเมืองหลวง ที่ฐานธรรมพระรามเก้า กรุงเทพมหานคร สร้างหลุมขนมครกและเรียนรู้การทำสวนเกษตรอินทรีย์ ที่ จ.จันทบุรี ร่วมสร้าง “หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ชุมชนกสิกรรมวิถี” จ.สระบุรี และร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้ หลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เปลี่ยนผู้บุกรุกมาเป็นผู้พิทักษ์ ที่ จ.น่าน
สุดท้ายกรอบการดำเนินงานในระยะที่ 3 พ.ศ. 2562 – 2564 คือ การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ เป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย มี 7 ภาคีระดับชาติเข้าร่วม ได้แก่ ภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อยกระดับสู่การแข่งขัน วางรากฐานการพัฒนามนุษย์ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำ เชื่อมโยงทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ
- ปีที่ 7 พ.ศ. 2562 จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิด “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” จากต้นน้ำป่าสักสู่การสร้างแม่ทัพแห่งลุ่มน้ำ โดยจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ จ.เลย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก และกิจกรรมทัศนศึกษาที่ จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ที่เชฟรอนประเทศไทยร่วมกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่ได้มีการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ไปแล้ว ให้เป็นระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ โดยนำผลสรุปจากโครงการวิจัยมาประมวลผลในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางสภาพแวดล้อม
- ปีที่ 8 พ.ศ. 2563 “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี” จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีเพื่อฟื้นฟูและปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำแจ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ กิจกรรม “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp) เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักแก่ประชาชนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วม น้ำแล้ง โรคระบาด และสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก โรงเรียนสงครามพิเศษ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (วัดใหม่เอราวัณ) จ.ลพบุรี และสร้าง “โคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล” ที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม จ.ชัยภูมิ
- ปีที่ 9 พ.ศ. 2564 “9 ปีแห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน” มีทั้งแคมเปญ “รวมพลังสู้โควิด-19” กิจกรรมช่วยน้ำท่วมที่ จ.สระบุรี และกิจกรรมเอามื้อสามัคคีแปลง “เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี” ที่ จ.นครราชสีมา และแปลง “โคกหนองนา โปรดปัน” จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงการสร้างแหล่งความรู้และเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล
สรุปผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการตามรอยพ่อฯ 9 ปี ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ดังนี้
- การ “สร้างคน” มีผู้เข้าอบรมและดูงานในศูนย์ฯ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานโครงการ พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก 489,984 คน พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำอื่น ๆ 826,280 คน รวมทั้งสิ้น 1,316,264 คน
- การ “สร้างครู” สร้างวิทยากร และครูพาทำในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในลุ่มน้ำป่าสักรวม 124 คน นอกลุ่มน้ำป่าสัก 9 คน รวมทั้งสิ้น 133 คน
- การ “สร้างศูนย์เรียนรู้” มีศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากโครงการ 11 แห่ง อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก 8 แห่ง และนอกลุ่มน้ำ ป่าสัก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ห้วยกระแทก) “ป่าสักโมเดล” จ.ลพบุรี, บ้านพึ่งพาตนเอง “ฟากนา ฟาร์มสเตย์” จ.เลย, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายอดิศร จ.สระบุรี, ศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาโมเดล หรือ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ วัดใหม่เอราวัณ จ.ลพบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา จ.ตาก, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง จ.อุดรธานี, และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ จ.สุรินทร์
ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ดูงานทั้งหมดของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศมีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก 12 แห่ง และพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ 58 แห่ง รวม 70 แห่ง
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร กล่าวเสริมว่า “จะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จอย่างดีทั้งในแง่ปริมาณในการสร้างคน สร้างครู สร้างศูนย์เรียนรู้ ส่วนสัมฤทธิผลในเชิงคุณภาพนั้นได้ผลดีเกินคาด การแตกตัวขยายผลครอบคลุมลุ่มน้ำทั่วประเทศ สร้างแรงกระเพื่อมที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เริ่มจากการสั่งการจากผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นให้ดำเนินการอบรมให้ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ภายในหน่วยทหาร และยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ และโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ‘โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง’ ของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
“จากการดำเนินอย่างต่อเนื่อง 9 ปีของโครงการ ‘ตามรอยพ่อฯ’ ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม จะสามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน” ดร.วิวัฒน์กล่าวสรุป
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงการสรุปผลความสำเร็จว่า “เชฟรอนประเทศไทยได้ร่วมจัดทำโครงการมาตลอดระยะเวลา 9 ปี โดยที่ผ่านมาเราได้เห็นผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพว่าโครงการได้เข้าไปช่วยในการให้ความรู้ สร้างตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเป็นล้าน ๆ ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับป่า การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ และยังสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทั้งผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์แก่ผู้ที่สนใจ โดยเราได้สร้างเนื้อหาในสื่อออนไลน์มากมายที่เป็นประโยชน์ อาทิ การจัดทำบทเรียน ‘คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ’ ในรูปแบบบทความและวีดิทัศน์บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ รวม 14 บท เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้ และยังได้สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามกว่า 246,900 คน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโครงการด้วยช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ทั้งเวบไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์
“พนักงานของเชฟรอนประเทศไทยเองกว่า 2 พันคน ก็ได้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมเอามื้อของโครงการอย่างต่อเนื่อง มีหลายคนที่นำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปลงมือทำที่บ้านเกิดเมื่อเกษียณจากการทำงานประจำ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับองค์กรและพนักงานเชฟรอนที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มารณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไป จนเกิดแรงบันดาลใจนำไปลงมือปฏิบัติ และได้ร่วมผลักดันขับเคลื่อนจนเกิดเป็นแรงกระเพื่อมอย่างมากมายในสังคมไทย” นายอาทิตย์กล่าวสรุป
นอกจากนี้ มาตรวัดความสำเร็จในเชิงคุณภาพที่สำคัญอีกประการ คือ การสร้างคนมีใจที่ตอบโจทย์ “ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน คือ การมีความรู้คู่คุณธรรมและการใช้ชีวิตอย่างพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และระดับเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า คือ บุญ, ทาน มีเหลือกินเหลือใช้ก็แบ่งปัน, เก็บ รักษาเคล็ดลับวิชาภูมิปัญญา, ขาย, ข่าย (กองกำลังเกษตรโยธิน) ซึ่งเกิดเป็นตัวอย่างบุคคลผู้ประสบความสำเร็จตาม “ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง” ที่มานะบากบั่นลงมือทำจนทำให้หยุดท่วมหยุดแล้งในพื้นที่ของตัวเอง เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ หลุดพ้นจากความยากจน และรอดจากวิกฤตด้วยศาสตร์พระราชา ได้แก่ พิรัลรัตน์ สุขแพทย์ (ผู้ใหญ่อ้อย) ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี, แสวง ศรีธรรมบุตร (ลุงแสวง) ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง จ.อุดรธานี, กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย), และประวีณ ศิราไพบูลย์พร (ติ่ง) 2 พี่น้องชาวปกาเกอะญอ แห่งไร่ไฮ่เฮา ไร่ติ่งตะวัน จ.ลำปาง เป็นต้น
ทั้งนี้ งานสรุปผลจัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี พื้นที่ของนายบุญล้อม เต้าแก้ว ที่ร่วมกิจกรรมโครงการตั้งแต่ปีแรก โดยนอกจากการออกร้านของเครือข่าย ยังมีกิจกรรมฝึกอบรมหลักการออกแบบโคก หนอง นา เบื้องต้น และฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ได้แก่ ฐานคนมีน้ำยา สอนทำน้ำยาอเนกประสงค์ แชมพู, ฐานคนรักษ์แม่ธรณี สอนทำปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยน้ำ, ฐานเพาะเห็ดตะกร้า, ฐานเพาะผัก นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ 9 คน 9 ปี ขึ้นเวทีร่วมเสวนา เพื่อยืนยันว่าศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้จริง โดยแต่ละท่านได้กล่าวถึงเปลี่ยนแปลง หลังจากร่วมโครงการ รวมทั้งความตั้งใจสานต่อองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ดังนี้
บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ อ.เมือง จ.สระบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 1 กล่าวว่า “ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ภูมิใจที่ช่วยเหลือคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โครงการทำให้กระบวนการเรียนรู้สั้นลง ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนเมื่อก่อน เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จในภูมิสังคมที่แตกต่างกันไปในหลายพื้นที่ให้ศึกษาเรียนรู้ หน่วยงานมีการบูรณาการกันที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด คือ การพัฒนาคน ทำให้เกิดคนมีใจที่มาร่วมกันเป็นเครือข่ายเยอะมาก การสืบสานศาสตร์พระราชาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีกรณีศึกษาใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ต้องนำองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนทำตาม การขับเคลื่อนจึงต้องทำต่อไปไม่รู้จบ”
ศิลา ม่วงงาม (ครูศิลา) ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชน บ้านหินโง่น อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 2 กล่าวว่า “จากเดิมที่มีการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา แค่ 2 ราย ปัจจุบันมีคนทำเพิ่มขึ้นมากถึง 3-4 เท่าตัว สมัยก่อนเส้นทางระหว่างบ้านหินโง่นถึงบ้านสักง่า ระยะทาง 8 กิโลเมตรจะเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด แต่ปัจจุบันมีไม้ผลขึ้นเต็ม 2 ข้างทาง เช่น ทุเรียน เงาะ ส้มโอ เป็นต้น และชาวบ้านยังปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2558 ผมได้จัดกิจกรรมทำฝายชะลอน้ำ 89 สายถวายพ่อ ที่ห้วยส้านซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านหินโง่น แล้วไหลลงแม่น้ำป่าสัก ซึ่งตอนนี้ห้วยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ดีมากเลย ผมมีความตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพราะได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน”
พิรัลรัตน์ สุขแพทย์ (ผู้ใหญ่อ้อย) ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 8 สามัคคี อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 3 กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพราะการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องและการสนับสนุนอย่างจริงจังของโครงการ ทำให้การแตกตัวในการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมาก ในการสืบสานศาสตร์พระราชาเรายังทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการรวบรวมเครือข่ายคนมีใจขับเคลื่อนเป็นระดับภาค และระดับประเทศต่อไป โดยจะทำแบบใกล้ชิดกว่าเดิม มีการประชุมวางแผนงานบ่อยขึ้น มีการลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องมากขึ้น มีการจัดทัพแบบกระชับองค์กร เพื่อเข้าถึงปัญหาและแก้ไขในทุกจุดอย่างรวดเร็ว มีการดึงคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น เราจะสืบสานต่อไปให้รุ่น 2 รุ่น 3 เหมือนที่อาจารย์ยักษ์วางไว้ค่ะ
พลเอกธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า เลขานุการคณะทำงานศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ อ.เมือง จ.ลพบุรี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 4 กล่าวว่า “หลังจากที่ร่วมกิจกรรมกับโครงการตามรอยพ่อฯ แล้ว ได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชามากขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นมากมาย ผมคิดว่าประชาชนเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านและเดินตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอนมากขึ้น โดยเฉพาะในยามเกิดโรคระบาดหรือเกิดวิกฤตภัยต่าง ๆ ประชาชนเห็นความสำคัญของความพอเพียงและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในศาสตร์พระราชาตามแนวทางที่พระองค์สอนและได้ลงมือทำในพื้นที่ตนเอง 10 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจที่จะสืบสานงานของพระองค์ให้กับหน่วยงานที่ผมเองรับผิดชอบ คือ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ในฐานะเลขานุการ และตั้งใจนำความรู้ถ่ายทอดกับผู้คนที่สนใจในทุกโอกาส โดยการเป็นวิทยากรให้ความรู้ทั้งในเรื่องโคก หนอง นา และการป้องกันแก้ไขวิกฤตภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการทำข้าวคุณภาพ โดยการถ่ายทอดความรู้และแนะนำให้กับเกษตรกรเรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำนาที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวนา รวมทั้งสุขภาพของประชาชนที่ได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพด้วย”
แสวง ศรีธรรมบุตร (ลุงแสวง) ปราชญ์แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 5 กล่าวว่า “หลังจากที่เข้าร่วมโครงการตามรอยพ่อฯ ก็มีคนมาขอดูพื้นที่ผม และเอากลับไปทำตามเยอะมาก หน่วยงานราชการก็มาจัดอบรมที่นี่ในฐานะเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ ครั้งละ 100 คนบ้าง 50 คนบ้าง พอกลับไปเขาก็ลงมือทำเลย และเมื่อมีปัญหาก็จะโทร.กลับมาปรึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาให้ เครือข่ายของคริสตจักรนาเรียงเองก็เข้มแข็งมากขึ้น มี 20 กว่าครัวเรือน ทำโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาทุกครัวเรือน จนเดี๋ยวนี้ไม่ต้องซื้อของกินของใช้ เอามารวมกันแลกเปลี่ยนกัน ความภูมิใจของผม คือ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนไม่เอางานเอาการ ให้กลับใจลุกขึ้นมาลงมือทำตามศาสตร์พระราชา หลังจากเขามาดูงานที่แปลงของผม จนปัจจุบันพื้นที่ที่เขาทำกลายเป็นศูนย์และเป็นครอบครัวต้นแบบ ตัวเขาเองก็กลายเป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปแล้ว ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้ จากนี้จะสืบสานงานของพ่อต่อไป ผมพูดกับครอบครัวว่า จะแบ่งปันเผื่อแผ่ คนไหนไม่มีที่ไป ตกงาน อยากเรียนรู้ศาสตร์พระราชาก็จะให้มาอยู่ที่นี่เลย ให้หากินอยู่ที่นี่ มาทำงานอยู่ที่นี่ พอตั้งหลักได้ก็ค่อยขยับขยาย”
บัณฑิต ฉิมชาติ (หัวหน้าฉิม) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 6 กล่าวว่า “ตอนนี้ชาวบ้านมีข้าวกินทั้งหมู่บ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมกลายป็นเทวดาของชาวบ้านไปแล้ว ทุกครั้งที่เจอผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะเข้ามากอด ผมดีใจและตื้นตันใจมากครับที่ช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้พวกเขาได้ ชาวบ้านลดการปลูกข้าวโพดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับพื้นที่ป่าของอุทยานคืนมา 3,000 กว่าไร่ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เมื่อก่อนชาวบ้านต้องเตรียมเงินไว้ปีละประมาณ 5,000 บาท เพื่อซื้อข้าวกิน แต่ปัจจุบันพื้นที่ทำกิน 3-5 ไร่ของพวกเขาก็สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ มีข้าว มีปลา มีผักกิน ไม่ต้องเสียไปเงินซื้อ ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อก่อนชาวบ้านต้องซื้อข้าวหัก ๆ กิน เดี๋ยวนี้ชาวบ้านปลูกข้าวพันธุ์ภูฟ้าซึ่งเป็นข้าวขาวที่สวยมากไว้กินเอง เหลือก็แบ่งปันกันในชุมชน ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนอดอยาก”
กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร (ต๋อย) เจ้าของพื้นที่ “ไร่ไฮ่เฮา” อ.งาว จ.ลำปางตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 7 กล่าวว่า “ปัจจุบันพื้นที่บ้านแม่ฮ่าง จ.ลำปาง มีครัวเรือนที่หันมาทำโคก หนอง นา บนพื้นที่สูงเพิ่มขึ้นเป็น 30 กว่าแปลง ทำกันจริงจังมาก มีการเวียนกันเอามื้อทุก ๆ สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง มีการทำแท็งก์น้ำในแต่ละจุดของแต่ละแปลง เพราะเป็นพื้นที่สูงการจัดการน้ำยาก ทุกแปลงจึงจำเป็นต้องมีแท็งก์น้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อการเกษตร และตอนนี้ขยับมาทำพื้นที่ที่สุโขทัยด้วย ซึ่งจะเป็นการขยายผลสู่ลุ่มน้ำยม มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ที่สร้างประโยชน์มาก มีการประชาสัมพันธ์และทำให้คนได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และคนที่สนใจสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ คือ การได้เครือข่ายที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เป็นแรงเสริมเป็นกำลังใจให้กันและกัน ส่วนตัวแล้วก็จะยังสืบสานงานของพ่อต่อไป ทั้งที่เป็นพื้นที่ของตัวเองและการร่วมเป็นเครือข่ายสนับสนุนและส่งต่อองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลงมือทำตามต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ”
ปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เจ้าของ "สวนฝันสานสุข" บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 8 กล่าวว่า “หลังจากโครงการมาจัดกิจกรรมเอามื้อที่ศูนย์ปราชญ์ฯ ทำให้ปราชญ์ชาวบ้านในชัยภูมิเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายมากขึ้น จึงมีการค้นหาแกนนำที่เป็นจุดแข็งของแต่ละอำเภอ เพื่อเรียกคนที่มีใจเดียวกันมาร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งทีมใหญ่และทีมเล็ก โดยที่ศูนย์ปราชญ์ฯ เองมีการวางแผนเอามื้อเดือนละครั้ง เครือข่ายก็จะไปปันแรงกัน ก่อนโควิด-19 ระบาดมีการจัดอบรมและดูงานอยู่เรื่อย ๆ รวมแล้วฝึกอบรมไปประมาณ 6 รุ่น จำนวน 500 กว่าคน ในช่วงโควิด-19 ระบาดได้ไปเป็นจิตอาสาทำหน้าที่พยาบาลสนาม ฉีดวัคซีน เลยถือโอกาสรวมพลังหมอศูนย์บาทของชัยภูมิ ต้มน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า สมุนไพรสุมยา แจกคนป่วยที่โรงพยาบาลสนามและที่ศูนย์สุขภาพชุมชน ตั้งใจจะสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาได้ทุกวิกฤตจริง พื้นที่ของตัวเองมี 18 ไร่ ทำโคก หนอง นา ไว้นานแล้ว มีต้นไม้เยอะ มีน้ำเหลือเฟือ ลูกชายเป็นคนรุ่นใหม่เคยบ่นว่าแม่อายุเยอะแล้วกลับมาเหนื่อยอะไรตรงนี้ แต่ต่อมาหลังจากเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่แม่ทำ ก็มากระซิบให้แม่ทำต่อไป ขอทำงานเก็บเงินซักพัก แล้วจะกลับมาสานต่อ ฟังแล้วชื่นใจมากเลยที่คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำค่ะ”
สุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี อ.จักราช จ.นครราชสีมา ตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ ปี 9 พ.ศ. กล่าวว่า “นวลเป็นคนบ้างานบ้าเรียน เวลาที่เหลือ คือ อยู่ในสวน เพราะอยากให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ เนื่องจากที่บ้านยังไม่เห็นด้วยอยู่ นวลจึงใช้วิธีสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยหวังว่าครอบครัวจะได้เห็นภาพ ซึ่งปรากฏว่าไม่ใช่เพียงครอบครัวที่เห็น แต่เพื่อนในโซเชียลก็ได้เห็นและเกิดแรงบันดาลใจลงมือทำตามกันหลายคน เครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียงก็มีการคุยกันในไลน์ ก็ขอมาดูพื้นที่เรา แล้วเกิดพลังใจกลับไปลงมือทำ เขาบอกว่าขนาดนวลเองเป็นคนมีเวลาน้อย ยังสามารถทำได้เลย รู้สึกภูมิใจที่ความตั้งใจของเรา เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลาย ๆ คน ลุกขึ้นมาทำตาม ในการสืบสานแนวคิดศาสตร์พระราชาจะยังทำอย่างต่อเนื่อง มีความตั้งใจอยากส่งต่อองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ ในชุมชน ให้ได้มาเรียนรู้ มาทำกิจกรรมแบบค่อย ๆ ซึมซับ เพื่อเป็นการบ่มเพาะแนวคิดและองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยค่ะ ไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการเดินตามรอยพ่อ เพราะคิดว่าคุณสมบัติยังไม่ถึงระดับนั้น แต่อยากจะให้เรียกว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างของคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำมากกว่าค่ะ”